เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 52
ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกยางพารามากที่สุดในโลก มีพื้นที่ปลูกกว่า 16 ล้านไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 10 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปีละ 3 ล้านตัน ต้นยางพาราส่วนใหญ่ที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดก็คือ พันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 (RRIM 600) ให้ผลผลิตน้ำยางเฉลี่ยไร่ละ 270 กิโลกรัมต่อปี และปลูกมากว่า 40 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีการพัฒนาพันธุ์ยางไปถึงอาร์อาร์ไอเอ็ม 2027-29 ให้ผลผลิตไร่ละกว่า 500 กิโลกรัมต่อไป
ยางพาราพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 แม้จะให้ผลผลิตดีกว่ายางพาราพันธุ์พื้นเมือง แต่หากเทียบกับยางพาราที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียแล้ว ถือว่ายังล้าหลังมาก ที่สำคัญยางพาราพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 มีอายุถึง 15 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนเอทิลีน (Ethylene) ในต้นยางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อน และเกิดอุดตันในท่อน้ำยาง ทำให้น้ำยางไหลช้าลงเรื่อยๆ จนหยุดไหลเมื่อต้นยางพาราอายุมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีริมโฟลว์ จากประเทศมาเลเซีย ซึ่ง ดร.สิวา กุมาราน ค้นคว้าและวิจัยพัฒนาขึ้นมาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิจัยและค้นคว้า ศูนย์วิจัยยาง ประเทศมาเลเซีย หรือ อาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) (ปัจจุบันสถาบันวิจัยยาง มาเลเซีย) เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เหมาะที่จะใช้กับยางพาราพันธุ์ อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 ที่มีอายุเกิน 15 ปี เพื่อให้มีน้ำยางไหลเร็วกว่าปกติ จากเดิมน้ำยางจะไหลหลังจากกรีดนาน 3-4 ชั่วโมง เป็น 6-8 ชั่วโมง และให้ผลผลิตน้ำยางมากกว่าถึง 2-3 เท่าตัว
นายพนัส แพชนะ นักวิชาการชำนาญการ ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี อธิบายว่า เทคโนโลยีริมโฟลว์ คือ การเพิ่มระดับฮอร์โมนเอทิลีนที่ขาดหายไปในโครงสร้างของต้นยางพารา โดยการติดตั้งอุปกรณ์ริมโฟลว์กับต้นยางที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ประกอบด้วยกล่องพลาสติกฝาครอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม มุมล่างของฝาครอบมีสายยาง และวาล์ว ซึ่งการติดอุปกรณ์ครั้งแรกตกต้นละ 39 บาท ใช้ได้ 1 ปีต้องเปลี่ยนใหม่
หลังจากติดตั้งแล้วจะฉีดฮอร์โมนเอทิลีนซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแก๊ส ไปตามสายยางผ่านวาล์วในอัตรา 0.02 กรัมต่อต้น คิดเป็นเงินต้นละ 20 สตางค์ จากนั้นฮอร์โมนวิ่งผ่านสายเข้าไปในกล่องฝาครอบต้นยางและจะซึมเข้าในเปลือก ยาง โดยใช้ระยะเวลาการเติมฮอร์โมนทุก 10 วัน สำหรับยางพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม และทุก 15 วัน สำหรับยางพันธุ์อื่นๆ เมื่อเติมฮอร์โมนเอทิลีนแล้วจะกรีดยาง 1 วัน เว้นอีก 2 วัน ระยะเวลา 10 วัน จะกรีด 3 วัน จะได้ผลผลิตมากกว่าการกรีดทุกวันถึง 1.5 เท่า อาทิ เดิมที่กรีดยาง 10 วัน ได้ 30 กิโลกรัม แต่เมื่อใช้เทคโนโลยีริมโฟลว์ กรีดเพียง 3 วัน จะได้น้ำยาง 45 กิโลกรัม ที่สำคัญจะกรีดยางตอนกลางหรือตอนเย็นก็ได้ เหมาะอย่างยิ่งกับพื้นที่อันตรายโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
สวนยางที่ใช้เทคโนโลยีริมโฟลว์ นอกจากจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว นายพนัสยืนยันว่า ทำให้ต้นยางมีบาดแผลน้อยที่สุด เนื่องจากจะกรีดหน้าสั้นเพียง 4 นิ้วเท่านั้น จากปกติกรีดยาว 8-12 นิ้ว นอกจากนี้ยังให้ต้นยางคงความสมบูรณ์ ช่วยยืดอายุการใช้งานได้อย่างยั่งยืนเป็นเวลา 50-60 ปี จากเดิมพอต้นยางอายุ 25 ปี ต้องโค่นปลูกใหม่ ส่วนวิธีการกรีดนั้น จะกรีดจากด้านล่างขึ้นด้านบน ในลักษณะเฉียง 45 องศา เนื่องจากโดยปกติท่อน้ำยางจะไหลเวียนรอบต้นยางในลักษณะจากด้านบนขวาลงมาด้านซ้ายล่าง
สำหรับประเทศไทย มีการนำเทคโนโลยีตัวนี้มาเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ครั้งแรกทดลองใช้ในสวนยางพาราที่ อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีเกษตรกรติดตั้งอุปกรณ์ริมโฟลว์ประมาณ 4 ล้านต้นไร่ ล่าสุดรัฐบาลได้จัดงบประมาณปี 2552 ให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางนำไปฝึกอบรมและสาธิตการใช้เทคโนโลยี ริมโฟลว์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดความเสี่ยงในพื้นที่อันตราย เพราะเทคโนโลยีตัวนี้สามารถกรีดยางในเวลากลางวันได้ และกรีด 1 วันหยุด 2 วันด้วย
ด้าน ดร.สิวา กุมาราน อดีตผู้อำนวยการวิจัยและค้นคว้า สถาบันวิจัยยาง มาเลเซีย กล่าวว่า ประสบผลสำเร็จจากการวิจัยและค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีริมโฟลว์ เมื่อปี 2533 เริ่มจากต้นยางพาราที่มีอายุ 20 ปี ต่อมาใช้กับยางพาราอายุ 15 ปี ล่าสุดมีการใช้กับต้นยางพาราอายุ 12 ปี โดยเบื้องต้นที่คิดเทคโนโลยีตัวนี้ เกิดจากการที่มาเลเซียขาดแคลนแรงงานที่จะกรีดยาง ทางสถาบันวิจัยยาง มาเลเซียจึงให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา หลังจากที่เขาประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีริมโฟลว์แล้ว รัฐบาลมาเลเซียนำไปแจกให้เกษตรกรรายย่อยที่มีสวนยางพาราไม่ เกิน 10 ไร่ เมื่อ 20 ปีก่อน กระทั่งปัจจุบันชาวสวนยางในประเทศมาเลเซียมีการติดตั้งอุปกรณ์ริมโฟลว์เกือบ 100% โดยที่ต้นยางไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น และเขาเองได้ลาออกจากตำแหน่งมาทำธุรกิจเต็มตัวแล้ว
ขณะที่นายก้อเส็ม โบบทอง ชาวสวนยางพาราจาก ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา กล่าวว่า มีสวนยางอยู่ 70 ไร่ เดิมที่กรีดได้ต้นละ 400 ซีซีต่อ 1 วัน หลังจากที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ริมโฟลว์ เมื่อ 9 ปีก่อน ผลผลิตได้ต้นละ 1,000 ซีซี กรีดในเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป หากมีต้นยาง 1,000 ต้น จะได้น้ำยางวันละ 1 ตัน ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่เวลาทำงานน้อยลง
"ตอนที่ผมติดตั้งอุปกรณ์ริมโฟลว์ใหม่ๆ ต้นยางของผมมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น ปัจจุบันต้นยางพารามี ความสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากได้รับฮอร์โมนเอทิลีน และและลดเวลาการกรีดจากทุกวันมาเป็น 1 วัน เว้น 2 วัน ที่สำคัญเวลาที่เหลืออีก 2 เท่าตัวนั้น สามารถไปทำอย่างอื่นได้อีก" นายก้อเส็ม กล่าวว่า
นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่จะยกระดับรายได้ให้มากขึ้น ขณะที่เวลาทำงานลดน้อยลงอีกด้วย
คุณสมบัติพิเศษของเอทิลีน
เอทิลีน เป็นฮอร์โมนพืชชนิดเดียวที่อยู่ในรูปแก๊ส และมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชเป็นอย่างมากไม่มีสี มีกลิ่นเล็กน้อย จัดเป็นสารอินทรีย์ประเภทไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารที่มีคาร์บอน และเกิดจากการสร้างขึ้นของพืช
จากการพิสูจน์พบว่า สารเอทิลีนเป็นฮอร์โมนพืช สามารถกระตุ้นการสุกของผลไม้หลายชนิด โดยพืชชนิดต่างๆ ผลิตเอทิลีนจากกระบวนการเมทาบอลิซึ่ม (metabolism) ในส่วนของลำต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด และรากเป็นต้น นอกจากนี้เอทิลีนจะช่วยเร่งให้เกิดน้ำยางในต้นยางพารา ส่งผลให้น้ำยางไหลเร็วและนานขึ้น จึงมีความสำคัญกับต้นยางพาราเป็นอย่างมาก
เมื่อมีการกรีดยางพาราทุก ครั้ง เท่ากับต้นยางมีแผลสารเอทิลีนจะออกฤทธิ์คือ กรด chloroethylphosphonic ซึ่งมีผลในการเร่งการไหลของน้ำยาง ทำให้ได้รับผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้น เพราะเอทิลีนไปเร่งการทำงานของเอนไซม์ ATPase ทำให้โปรตอนเกิดการเหนี่ยว และเข้าสู่เซลล์การสังเคราะห์ยาง จะช่วยเร่งการเคลื่อนย้ายน้ำตาลซูโครส ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์น้ำยาง นอกจากนี้ยังทำให้สภาพภายในเซลล์สังเคราะห์ยางมีความเป็นกรดด่างมากขึ้น และเร่งการเคลื่อนย้ายของโมเลกุลน้ำในเซลล์ข้างเคียงเข้าสู่เซลล์สังเคราะห์ยาง ทำให้น้ำยางไหลนานกว่าปกตินั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 19 ตุลาคม 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20091019/33216/%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%