ปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดิน
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 52
ปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดิน
ตามยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพน้ำที่จะต้องได้มาตรฐานสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากภารกิจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ
ซึ่งการรักษาคุณภาพน้ำนั้น วิศวกรชลประทาน ดร.วัชระ เสือดี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการชลประทานบอกว่าจะต้องเน้นการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมให้ครอบคลุมทุก ๆ ด้าน ทั้งปริมาณและคุณภาพที่สำคัญจะต้องให้เกิดผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดโดยเฉพาะผลกระทบต่อมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
และนี่คือที่มาของงานวิจัยและศึกษาการทำปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดินของกรมชลประทาน ดร.วัชระเล่าว่า เศษขยะทั้งประเภทเศษอาหาร หญ้าที่ตัด กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ วัชพืช หากปล่อยทิ้งลงในแม่น้ำ ลำคลองก็จะสร้างมลพิษทางน้ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ทั้งการอุปโภคบริโภค และการชลประทานได้ หากนำไปเผาก็จะสร้างมลพิษทางอากาศ ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน กรมชลประทานโดยสถาบันพัฒนาการชลประทาน สำนักวิจัยและพัฒนา จึงได้ศึกษาหาแนวทางการในการแก้ปัญหาดังกล่าวแบบยั่งยืน
สืบเนื่องจากสถาบันฯ ได้เล็งเห็นองค์ความรู้ของนายชวกร ริ้วตระกูลไพบูลย์ วิศวกรชลประทาน ประจำสำนักชลประทานที่ 11 และเป็นอาจารย์พิเศษวิทยาลัยการชลประทาน ซึ่งเคยไปฝึกอบรมการนำขยะมาผลิตเป็นปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมมากว่า 4 ปี
โครงการดังกล่าวเริ่มเมื่อต้นปี 2552 โดยได้รับการสนับสนุนและให้คำปรึกษาจากผู้บริหารระดับสูงของกรมชลประทาน อาทิ อาจารย์วสันต์ บุญเกิด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำสถาบันพัฒนาการชลประทาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารงานบุคคล อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล ที่ปรึกษาสถาบันฯ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 11 กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่สถาบันฯ นิสิตวิทยาลัยการชลประทาน โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วม เริ่มจากการศึกษาดูงาน นำมาปฏิบัติ ติดตามประเมินผล ปรับปรุง ต่อยอดแบบร่วมกันคิดร่วมกันทำ
สำหรับขั้นตอนการทำปุ๋ยและน้ำหมักจากไส้เดือนดินนั้น เริ่มจากการนำขยะใส่ในบ่อหมักในอัตราส่วนขยะ 1 ตารางเมตร ต่อไส้เดือน 1 กิโลกรัม โดยบ่อหมักที่สร้างขึ้นจะมีขนาด 6x10x0.8 เมตร จากนั้นทิ้งไว้เป็นเวลา 45 วัน ไส้เดือนจะกัดกินขยะแล้วถ่ายมูลเป็นเม็ดสีดำ ซึ่งจะมีธาตุอาหารสำหรับพืชและจุลินทรีย์สูง ทำให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนชั้นดี มีแร่ธาตุครบถ้วน รวมทั้งยังได้น้ำหมักหรือฉี่ไส้เดือนซึ่งเป็นน้ำหมักชีวภาพ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ซึ่งมีธาตุอาหารและฮอร์โมนพืชและจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในปริมาณมาก ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ปุ๋ยมูลไส้เดือนจะนำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินและให้ธาตุอาหารแก่พืช ส่วนน้ำหมักมูลไส้เดือนดินนอกจากใช้เป็นธาตุอาหารสำหรับพืชแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย บำรุงต้นไม้ ใช้เป็นน้ำยาล้างห้องน้ำ ถูพื้น กำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและไม่สร้างมลพิษทางน้ำอีกด้วย
ปัจจุบันสถาบันพัฒนาการชลประทานสามารถผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนได้ประมาณเดือนละ 500 กิโลกรัม และน้ำหมักมูลไส้เดือนอีกประมาณ 500 ลิตร ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ภายในสถาบันฯ สำหรับวิธีการใช้นั้น ปุ๋ยมูลไส้เดือนจะนำไปตากให้แห้งหรือนำไปใช้เลยก็ได้ โดยโรยรอบ ๆ ต้นไม้ที่ปลูก ในอัตราที่พอเหมาะ และถ้าเป็นพืชผักสามารถโรยบาง ๆ ทั่วแปลงได้ ส่วนน้ำหมักมูลไส้เดือนให้นำไปผสมกับน้ำสะอาดอัตราส่วน 1 : 20 เทลงในน้ำเสียเพื่อบำบัดน้ำเสีย ใช้ทำความสะอาด หรือนำไปรดต้นไม้ พืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นไม้ พืชผักเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีกต่อไป
พร้อมกันนี้ ดร.วัชระบอกด้วยว่า สถาบันพัฒนาการชลประทานพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการนำขยะมาผลิตเป็นปุ๋ย และน้ำหมักจากไส้เดือนให้กับผู้ที่สนใจ โดยขณะนี้เตรียมที่จะขยายผลให้กับสำนักชลประทานและโครงการชลประทานต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในหน่วยงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังเกษตรกรและผู้ที่สนใจในพื้นที่ต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=27366
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า