เมื่อวันที่ 26 มกราคม 52
จากปัญหาวิกฤติ “พลังงาน” น้ำมัน ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกภูมิภาค ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวหลายประเทศต่างหันเหมุ่งไปพัฒนาพลังงานทดแทนบนดิน ที่ได้จาก ผลิตผลทางการเกษตร แต่นั่นก็ยังคงมีต้นทุนอยู่มาก
ฉะนี้...จึงต้องเบนเข็มไปหาพลังงานจากธรรมชาติ ที่ใช้ไม่มีวันหมดอย่าง น้ำ ลม แดด สำหรับเป็นทางเลือกที่จะนำมาลดภาระต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสภาพแวด ล้อม ซึ่งในหลายๆประเทศอย่างเช่น “เดนมาร์ก” ก็มีการนำ “ลม” มาผันผลิตไฟฟ้าใช้กันแล้ว
สำหรับบ้านเราซึ่งนำโดย ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมด้วย ศ.ดร.ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายนิรันดร์ สุวรรณสิทธ์ สนง.การไฟฟ้าภูมิภาค เขต 1 ภาคเหนือ เชียงใหม่ นายเสรี กังวานกิจ สนง.พลังงานภูมิภาคที่ 10 นายอภิชาต สวนคำกอง คณะผลิตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
และ ร.อ.พชร เกตุเชื้อจีน กองพันพัฒนาที่ 3 จ.เชียงใหม่ ก็ได้ “ศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเขตภาคเหนือตอนบน” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่จะลดต้นทุนจากใช้พืชผลการเกษตรเป็นวัตถุดิบ โดยการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนอุดหนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หัวหน้าโครงการ บอกว่า “การนำพลังงานลมมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะทางภูมิประเทศ ความ เร็วทิศทางลม ซึ่งการเก็บข้อมูลดังกล่าวในบ้านเรายังไม่มาก จะมีก็เฉพาะลมพื้นผิวที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 10 เมตร ที่ในทาง อุตุนิยมวิทยา ใช้เท่านั้น”
ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง ภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะภูเขาสูงสลับกับช่องเขา ทำให้ได้รับอิทธิพลจาก ลมภูเขา (Moun-tain Valley Breeze) และ ลมหุบเขา (Valley Mountain Breeze) ที่ปรากฏการณ์นี้จะเหมือน ลมบก (Land Breeze) ลมทะเล (Sea Breeze)
จากทฤษฎีนี้ ทีมวิจัยจึงเริ่มศึกษาศักยภาพลมที่ระดับความสูง 40-80 เมตร เพื่อคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย เบื้องต้นมีทั้งหมด 18 แหล่ง ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ จากการสำรวจเก็บข้อมูลพบว่ามี 8 สถานีคือที่ ผาตั้ง บ้านร่มโพธิ์ไทย จ.เชียงราย อ่างขาง โครงการหลวงหนองหอย โครงการหลวงแม่แฮ อ.ปาย กิ่วลม แม่ฮ่องสอน และที่ ดอยม่อนล้าน เหมาะที่จะติดตั้งกังหันได้ แต่ยังต้องตรวจสอบความเร็วลม เพื่อให้ คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จะใช้
ฉะนี้....เพื่อความแน่ชัดทีมวิจัยจึงทำการเก็บข้อมูลเพิ่ม ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก มูลนิธิโครงการหลวง อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี กระทั่งพบว่ามี 3 สถานีคือ บ้านกิ่วลม อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน อ.พร้าว และ สถานีบ้านแม่แฮ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ มีความเร็วลมเฉลี่ยสูงกว่า 5 เมตร/วินาที
โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะติดตั้ง “กังหันลม” หรือ “ไร่พลังงานลม” จาก การตรวจวัดความเร็วและทิศทางลม สามารถนำมาประเมินศักยภาพการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,200-1,600 เมกะวัตต์/ปี คิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าประมาณ 3-5 บาท/หน่วย...
นายกฤษธ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. ที่เดินทางไปตรวจดูความคืบหน้าโครงการนี้ บอกว่า ผลที่ได้จากการวิจัยดังกล่าว ไม่เพียงแค่ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการหาแหล่งพลังงานทางเลือกเท่านั้น เพราะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯร่วมกับแม่ฮ่องสอน ยังได้ร่วมกับ UNDP ในการที่จะพัฒนาให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่มีการนำมาใช้ในจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
โครงการ หลวงหนองหอย และสำนักพัฒนาพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน ได้เอาข้อมูลความเร็วลมไปใช้หาทิศทางความเหมาะสม ในการออกแบบโรงเรือนสำหรับทำเกษตรที่สูงให้ แข็งแรง ทนทาน ศึกษาติดตั้งกังหันลมขนาดเล็ก เพื่อใช้ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 26 มกราคม 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=120736