'ไข่ไก่' อาหารเปี่ยมคุณค่า สารพัดประโยชน์
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 52
'ไข่ไก่' อาหารเปี่ยมคุณค่า สารพัดประโยชน์
“โรคอัลไซเมอร์” เกิดขึ้นได้อย่างไรปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีนักวิจัยกำลังหาสาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการที่สมองถูกทำลายหรือมีการเสื่อมสภาพไปตามอายุขัย มีการถดถอยหน้าที่ของสมอง เพราะโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม อาจจะพบในคนที่มีอายุน้อยกว่านี้ แต่อัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นด้วย และนับเป็นอีกโรครุนแรงที่สำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการใดที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ จะทำได้ก็เพียงแค่การรักษาให้อาการดีขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เท่านั้น
องค์การโรคอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer's Disease International หรือ ADI) ได้ออกมาเผยแพร่รายงานชิ้นใหม่ ในวันอัลไซเมอร์โลก (World Alzheimer's Day) เมื่อ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2553 จะมีคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ มากกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าที่เคยคาดกันไว้เมื่อ 2-3 ปีก่อน ราว 10% โดยในปีหนึ่ง ๆ ทั่วโลกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับโรคสมองเสื่อมต่าง ๆ ทั้งหมดเป็นเงินราว 315,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังคาดการณ์อีกว่าจะมีคนเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก ๆ 20 ปี และในอีก 40 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2593) จะมีคนเป็นโรคนี้มากกว่า 115 ล้านคน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ระดับกลางอย่างแอฟริกา ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกาตอนใต้ และหลายส่วนของเอเชีย ซึ่งจะเผชิญกับภาระหนักเมื่อประชาชนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ ADI ยังได้ออกมาร้องขอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดโรคอัลไซเมอร์ให้เข้าไปอยู่ในลำดับสำคัญด้านสุขภาพ พร้อมทั้งเสนอให้มีการศึกษาและทำการวิจัยค้นคว้าถึงสาเหตุของโรค หรือวิธีการชะลออาการของโรคไม่ให้เกิดขึ้นเร็วนัก หากว่าไม่สามารถหยุดยั้งได้
ถือเป็นโชคดีที่ปัจจุบันทั้งวิทยาศาสตร์และการแพทย์ต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก จึงมีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ซึ่งนักวิจัยหลายสำนัก มีสรุปผลในทำนองเดียวกัน อย่างรายงานของ The Standing Committee on the Scientific Evaluation ที่ทำการศึกษาสารอาหารหลายชนิดซึ่งผลวิจัยสรุปว่า โคลีน (Choline) มีผลต่อขบวนการส่งกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความจำและการรับรู้หรือเรียก ได้ว่ามีบทบาทต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้โดยเฉพาะระบบความจำ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์สมองเริ่มตั้งแต่เป็น ทารกอยู่ในครรภ์เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย เพราะโคลีนเป็นสารตั้งต้นหลักในการสังเคราะห์สารอะเซติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อนำประสาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจำและการควบคุมกล้ามเนื้อ ฯลฯ ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารตัวนี้ช่วยทำให้มนุษย์มีความสามารถในการจดจำ และหากในสมองมีปริมาณของสารนี้ลดน้อยลง จะส่งผลให้เซลล์สมองมีปัญหาในการสื่อสาร จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอะซีติลโคลีนกับโรคอัลไซเมอร์ พบว่าในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีปริมาณของอะซีติลโคลีนลดลงมากถึงร้อยละ 90 และเชื่อว่าเป็นเหตุทำให้ความสามารถในการจำและการใช้เหตุผลของผู้ป่วยลดลง ตามไปด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับผลงานของ Clin Ther (Jan 2003) ที่ศึกษาผลกระทบของสารอาหารต่อโรคอัลไซเมอร์ โดยระบุว่าโคลีน สามารถป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้
ส่วนอาหารที่เป็นแหล่งของโคลีนนั้น มีการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นสรุปผลอย่างเห็นพ้องต้องกันว่าไข่แดงของไข่ไก่ เป็นอาหารที่มีโคลีนอยู่ในปริมาณมากที่สุดชนิดหนึ่ง และการกินไข่ก็มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพความจำและความสามารถในการเรียนรู้ และยังช่วยชะลอการสูญเสียความทรงจำในผู้สูงอายุ รวมทั้งมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดและหลอดเลือดหัวใจ ด้วย เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอาหารในปัจจุบัน กำหนดให้โคลีนเป็นสารอาหารจำเป็นที่คนทุกเพศทุกวัยต้องบริโภค ซึ่งร่างกายของคนสามารถผลิตโคลีนได้เอง แต่ปริมาณที่ได้นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการจำเป็นต้องรับประทานเพิ่มเติม
นอกจากนี้ทางสมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (American Heart Association : AHA) ยังสนับสนุนให้กินไข่มากขึ้น โดยออกมาเปลี่ยนคำแนะนำในการกินไข่ จากเดิมแนะนำให้กินได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง เป็นสามารถรับประทานได้วันละไม่เกิน 1 ฟอง
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไข่ไก่นั้นเป็นอาหารเปี่ยมคุณค่า สารพัดประโยชน์ แถมยังถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ วันนี้บ้านเราคงเร่งทำความเข้าใจกับผู้บริโภคเกี่ยวกับไข่ไก่ ให้มากขึ้น...จากนี้ไปคงจะมีคำทักทายใหม่ว่า....วันนี้คุณกินไข่แล้วหรือ ยัง?.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=28115
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า