จาก 'มูลสัตว์' เป็น 'ก๊าซ' ลดรายจ่ายในครัวเรือน
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 52
จาก 'มูลสัตว์' เป็น 'ก๊าซ' ลดรายจ่ายในครัวเรือน
ภายในบริเวณโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ที่จังหวัดสระแก้ว ที่คณะของกรมกิจการพลเรือนทหารบก พาเราไปดูมา ในวันที่ไปดูนั้น เห็นครูพาเด็กนักเรียนกลุ่มใหญ่ไปทัศนศึกษา ณ ที่แห่งนั้นด้วย ที่นั่นคงเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่เยาวชนที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ นอกจากจะหัดกระบือให้รู้จักการทำนาแล้ว ยังสอนคนให้อยู่กับธรรมชาติ ให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ เพราะคนกับธรรมชาติ ย่อมไม่สามารถแยกออกจากกันได้ คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของคน
ดังเช่น
การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ที่มีข้อดีอันเห็นได้ชัดเจนคือ สามารถนำสิ่งของเหลือใช้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมอีกต่างหาก
นอกจากรักษาสภาพแวดล้อมแล้วยังได้ก๊าซชีวภาพมาเป็นแหล่งพลังงานในการหุงต้ม และให้แสงสว่างในครัวเรือนแล้วยังให้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุง ดิน เพิ่มผลผลิตพืชได้
การผลิตก๊าซชีวภาพ จากมูลสัตว์ที่นี่ประมาณค่าใช้จ่าย 1 บ่อเพียง 5,000 บาท ซึ่งในการใช้ประโยชน์ปุ๋ยอินทรีย์จากบ่อก๊าซชีวภาพประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
1.ส่วนที่เป็นน้ำหมักที่ล้นออกจากบ่อพักแล้วเก็บรวบรวมไว้ในบ่อ หรืออ่างซีเมนต์มีปริมาณ 450 ลิตรต่อเดือน
2. ส่วนที่เป็นกากที่เหลือจากการหมักเป็นของแข็งนำไปตากแห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 300 กก.ต่อเดือน
วิธีการใช้น้ำหมักจากบ่อก๊าซชีวภาพ ได้แก่ นำน้ำที่เกิดจากการหมักมาผสมน้ำก่อนเพื่อเจือจางในอัตรา 1 ต่อ 20 แล้วกรอง ก่อนที่จะนำไปฉีดพ่นทางใบในช่วงเย็น โดยฉีดพ่นทุกเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง ในอัตรา 40-80 ลิตรต่อครั้ง ในช่วงไม่มีฝน
ส่วนวิธีการเติมมูลสัตว์ ให้เติมทุก ๆ 2 วัน ประมาณ 30 กก. ผสมน้ำในอัตรา 1:1 ในน้ำ 30 ลิตร คือใน 1 เดือนมูลสัตว์ 30 กิโลกรัม เติมน้ำ 30 ลิตร โดยการเติมทุก ๆ 2 วัน ผลลัพธ์คือจะได้น้ำหมักประมาณ 900 กิโลกรัม และเดือนหนึ่งสามารถเก็บกากตากแห้งได้ประมาณ 6 กระสอบ กระสอบละ 50 กก. รวม 300 กก.
สำหรับปริมาณน้ำหมักจากบ่อก๊าซชีวภาพ จะได้...
1.เติมน้ำ 30 ลิตรต่อครั้ง ใน 1 เดือน เติม 15 ครั้งจะได้น้ำหมัก 450 ลิตรต่อเดือน
2.นำน้ำหมักไปผสมน้ำสะอาดในอัตรา 1:20 จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ (น้ำ) 9,000 ลิตรต่อเดือน
3.นำปุ๋ยอินทรีย์น้ำหรือน้ำหมักจากบ่อก๊าซชีวภาพไปฉีดพ่นทางใบในอัตรา 40-80 ลิตรต่อไร่
จริง ๆ แล้วการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์มีหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป เกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นสามารถนำไป ประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นของตนเองได้ เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า หากพื้นที่ใดมีการเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่ได้ทำบ่อก๊าซชีวภาพ พื้นที่นั้นจะเกิดมลพิษ แต่ถ้าพื้นที่ใดมีการเลี้ยงสัตว์และมีการทำบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์แล้ว พื้นที่นั้นก็จะไม่เกิดมลพิษ และยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ที่รู้จักใช้อีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=28112
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า