แผ่นยางปูพื้นจากยางธรรมชาติ เพื่องานปศุสัตว์
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 52
แผ่นยางปูพื้นจากยางธรรมชาติ เพื่องานปศุสัตว์
การวิจัยในเรื่องนี้เป็นการนำยางพาราที่ราคาขึ้น ๆ ลง ๆ มาทำประโยชน์โดยแท้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ตอนนี้เกษตรกรไทยหันมาปลูกยางพารากันมากขึ้นที่ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ปลูกกันทั่วไปโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ขอให้โชคดีและสมหวังดั่งตั้งใจ งานวิจัยชิ้นนี้ วิจัยโดยนักวิจัยจากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมกับ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยและพัฒนาแผ่นยางปูพื้นในคอกโคนม ใช้ปูบนพื้นซีเมนต์ เพื่อช่วยลดการกดทับของกีบ และข้อเข่าของโค โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ วิจัย (สกว.) และบริษัท สยามยูไนเต็ด จำกัด
รศ.ดร.สมเกียรติ ประสานพานิช แห่งภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ และทีมงาน ทำการศึกษาและพัฒนา “แผ่นยางธรรมชาติปูพื้นในคอกโคนม” เพื่องานปศุสัตว์ในโคนม และโคเนื้อ กล่าวว่า โดยทั่วไปเกษตรกรที่ทำฟาร์มโคนมจำนวนกว่าร้อยละ 90 ในประเทศไทย มักจะเลี้ยงโคไว้ในคอกพื้นซีเมนต์แข็ง ทำให้กีบและข้อเข่าของโคเกิดอาการอักเสบ เพราะกีบและเท้า ของโคต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าส่วนอื่น จึงได้ศึกษาการนำแผ่นยางมาปูพื้น เพื่อให้โคเกิดความสบายในโรงเรือน ซึ่งคุณสมบัติของแผ่นยางปูพื้นสำหรับคอกสัตว์ ต้องมีความอ่อนนุ่มที่พอเหมาะป้องกันการลื่นไถลของโค ขณะลุกนั่ง เดิน ไม่ทำให้เกิดแผลที่กีบเท้า ซึ่งเกิดจากการขูดขีด ทำความสะอาดง่าย และเหมาะสมกับอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย
“นอกจากนี้ราคาต้นทุนการผลิตยังต่ำกว่าสูตรเริ่มต้นของโรงงาน และ สามารถผลิตได้เองในประ เทศจึงช่วยลดการนำเข้า และมีคุณสมบัติตามต้องการ ซึ่งจากการนำแผ่นยางไปใช้จริงในฟาร์ม โคนมของศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตนม ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า แม่โคระยะการให้นม หรือแม่โคแห้งนม จะใช้เวลาส่วนใหญ่หลังการกินอาหารในการเดิน นั่ง หรือนอนบนพื้นที่มีความนุ่ม (พื้นยาง) มากกว่าพื้นคอนกรีต เพราะทำให้รู้สึกสบาย ช่วยลดการกดทับของบาดแผลที่เกิดจากพื้นแข็ง ทำให้โคมีสุขภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางสรีรวิทยา เช่น ฮอร์โมน เอนไซม์ ค่าโลหิตวิทยา ระบบภูมิคุ้มกัน แม่โคกินอาหารได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5.4% และผลผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นประมาณ 4.85 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีรายได้จากการจำหน่ายน้ำนมเพิ่มขึ้น
นอกจากโคนมแล้ว เกษตรกรยังสามารถนำแผ่นยางไปประยุกต์ใช้ในสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ในคอกสุกรเลี้ยงลูก จะช่วยลดการบาดเจ็บจากข้อเข่าของลูกสุกรในขณะกินนมแม่ รวมทั้งลดการบาดเจ็บของส่วนหัวไหล่ของแม่สุกรในขณะเลี้ยงลูก ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราในรูป อุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางดิบภายในประเทศ ให้มีปริมาณสูงขึ้น ยังช่วยในเรื่องสุขอนามัย และการเพิ่มผลผลิตจากสัตว์ ซึ่งในฟาร์มโคนมของต่างประเทศใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางดิบภายในประเทศได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี 2548 และสามารถผลิตยางดิบเพื่อส่งออก ได้กว่า 3 แสนตัน ส่วนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางดิบภายในประเทศก็มีปริมาณที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งในจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากยางพารานั้น แผ่นยางรองพื้น ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในคอกโคซึ่งงานวิจัยในยุโรป และอเมริกาพบว่า คอกที่ปูด้วยแผ่นยางสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโคได้อย่างดี
ในอนาคตจะมีการวิจัยเพื่อเป็นการต่อยอดในส่วนของการผลิตน้ำเชื้อคุณภาพดีจากโคพ่อพันธุ์ โดยให้พ่อโคได้ยืนบนพื้นยาง ทั้งนี้เพื่อให้พ่อโคไม่ต้องระแวงต่อการลื่นล้มจากพื้นคอนกรีตที่ทั้งแข็งและลื่น
การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราในรูปของอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางดิบภายในประเทศก็มีปริมาณที่สูงขึ้น นอกจากจะช่วยเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว ผลิตภัณฑ์จากยางพาราในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการ พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ให้เกิดสวัสดิภาพในการเลี้ยงสัตว์ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในฟาร์มโคนม ซึ่งการใช้แผ่นยางปูพื้นจะช่วยลดอาการบาดเจ็บจากบาดแผลที่เกิดจากการที่สัตว์เคยอาศัยอยู่บนพื้นคอนกรีตจะลดลงเมื่อนำมาเลี้ยงในคอกที่ปูด้วยพื้นยาง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=28116
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า