สำรวจพบกล้วยป่าในไทยเสี่ยงสูญพันธุ์
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 52
สำรวจพบกล้วยป่าในไทยเสี่ยงสูญพันธุ์
ดร.จามร สมณะ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากการศึกษาเครื่องหมายทางชีวโมเลกุลเพื่อการจำแนก คัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์กล้วย พบว่ากล้วยตานีในป่าธรรมชาติมีจำนวนน้อย เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ดร.จามรกล่าวว่า กล้วยเป็นพืชพื้นเมืองของไทยที่พบเห็นทั่วไปและมีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูงมาก ทั้งกล้วยป่าและกล้วยปลูก อย่างไรก็ตาม ด้วยความเจริญของบ้านเมืองและการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการป้อนผลผลิต สู่ตลาดด้วยพืชเชิงเดี่ยวในปริมาณมาก รวมถึงการขาดองค์ความรู้และความสนใจของสิ่งดั้งเดิมที่มีอยู่ ส่งผลให้ทุกวันนี้มีการนำกล้วยเพียงไม่กี่พันธุ์มาใช้ประโยชน์ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่และกล้วยหักมุก ทำให้เสียโอกาสอันดีที่จะใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรม และมีโอกาสเกิดการสูญพันธุ์เนื่องจากไม่มีผู้ใดสนใจปลูกหรือรักษาแหล่งพันธุ์เอาไว้
จากการสำรวจเบื้องต้นของ ดร.จามรและคณะ พบว่ามีกล้วยป่าและกล้วยปลูกที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อยู่มากมาย การอนุรักษ์พันธุ์กล้วยจึงเป็นสิ่งที่ต้องกระทำโครงการวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ครั้งนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่ทำให้เกิดการศึกษาและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของกล้วยป่าและกล้วยปลูก
หลังการเก็บตัวอย่างและระบุลักษณะกล้วยประมาณ 400 ตัวอย่าง ซึ่งได้รวบรวมตัวอย่างแห้งไว้แล้วที่หอพรรณไม้สวนหลวง ร.๙ ตัวอย่างต้นกล้วยมีชีวิตลงแปลงปลูกในโครงการที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สวนของเรือนไทยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร และแปลงรวบรวมพันธุ์กล้วย คลองสิบ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี รวมทั้งการนำกล้วยชนิดที่หายากและมีลักษณะโดดเด่นหรือเติบโตที่แปลงปลูกได้ ไม่ดีมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และศึกษาข้อมูลเชิงลึกในรายละเอียดต่าง ๆ พบว่ากล้วยป่าที่พบในธรรมชาติ 9 ชนิด และนำเข้า 4 ชนิด ในจำนวนนี้พบแหล่งพันธุกรรมกล้วยตานี Musa balbisiana Colla ในป่าธรรมชาติจำนวนน้อย และอาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกแผ้วถางบุกรุก กลายเป็นป่าผืนเล็ก การกระจายพันธุ์ได้ในวงแคบ ทั้งนี้หลังการสำรวจกล้วยทั่วประเทศ นักวิจัยพยายามเก็บข้อมูลและเชื้อพันธุ์กล้วยป่า เพื่อให้เป็นแหล่งอ้างอิงที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย และจะพยายามให้เป็นแหล่งพันธุ์กล้วยอ้างอิงที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลกต่อไป
สำหรับกล้วยปลูกนั้น มีการพบพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อน เช่น กล้วยไข่ดำ กล้วยนิ้วพญาสาละวิน รวมทั้งกล้วยที่มีลักษณะแปลก ๆ เช่น มีปลีสีเหลือง มีปลีจำนวนมากแทงยอดออกมาแทนผล เป็นต้น
ดร.จามร บอกว่า เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบยางกล้วย พบว่านอกจากสารประกอบฟีนอลแล้ว ยางกล้วยยังอุดมไปด้วยไขมัน โปรตีน และน้ำตาล ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีสารอาหารต่าง ๆ สำหรับการเจริญเติบโตของพืชรวมอยู่ด้วย สารประกอบฟีนอลมีสารบางตัวที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้ยางกล้วยเป็นสีน้ำตาลได้ง่ายและติดทนแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น เช่น เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารมีฤทธิ์ทางยาอื่น ๆ เช่น ห้ามเลือด ลดการอักเสบ ลดไขมันในเส้นเลือด โดยจะมีการทดสอบและขยายผลต่อไป
ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดกล้วยที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และรูปแบบการใช้ประโยชน์จากมนุษย์ อันเป็นทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีค่ายิ่ง จึงควรมีการส่งเสริมการวิจัย เช่น การพัฒนาพันธุ์ การใช้ประโยชน์ทางเภสัชวิทยา การดูแลผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวและประสานงานการใช้ประโยชน์จากองค์กรต่าง ๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้เท่าเทียมกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ
ดร.จามรกล่าวว่า ยินดีร่วมประสานงานและให้การสนับสนุนกับผู้มีความตั้งใจจริงที่ต้องการร่วม กันพัฒนาศักยภาพของกล้วยไทย ซึ่งที่ผ่านมานักวิจัยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายความร่วมมือเชิงวิชาการ เป็นอย่างดีกับ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เครือข่ายพืชปลูกพื้นเมืองไทย สวนเรือนไทยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดลรวมทั้งข้อตกลงการร่วมวิจัยระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับสถาบันวิจัยในประเทศสาธารณรัฐเช็กด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=28277
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า