'ไบโอดีเซล' จากเมล็ดทานตะวันสร้างสรรค์ชุมชนให้พอเพียง
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 52
'ไบโอดีเซล' จากเมล็ดทานตะวันสร้างสรรค์ชุมชนให้พอเพียง
ศูนย์วิจัยและบริการไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มีแนวคิดว่าถ้าหากให้ชุมชนสามารถปลูกพืชน้ำมันแล้วนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล เพื่อใช้เองภายในชุมชน ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในด้านพลังงานทดแทน จึงทำวิจัยเรื่อง “
การศึกษาการผลิตไบโอดีเซล (B100) จากพืชทานตะวัน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเชิงบูรณาการ” เพื่อที่จะทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
โครงการนี้เลือกใช้ “
ทานตะวัน” เป็นพืชน้ำมันตัวอย่างของการเรียนรู้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ 2 หมู่บ้านคือ บ้านอมลอง ต.แม่สาบ และ บ้านแม่โต๋ ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ อย่างครบวงจรทั้งการปลูก ผลิต แปรรูป ทดลอง และการนำไปใช้งานด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในท้องถิ่นโดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยร่วมกับ “วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม” ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวบ้าน ด้วยการนำ “พลังงานทางเลือก” มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะปลูกจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิต โดยหันมาพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นในชุมชนโดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
พระสรยุทธ ชยปญฺโญ รักษาการเจ้าอาวาส วัดพระบรมธาตุฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านมีมิจฉาทิฐิหรือความเห็นผิดในการประกอบอาชีพ ด้วยความอยากมี อยากได้ อยากเป็นไปตามกระแสของโลก ก่อให้เกิดภาระหนี้สินมากมายกลายเป็นทุกข์ โดยไม่ได้มองว่าเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร ดังนั้นการถ่ายทอดหรือว่าอบรมสั่งสอนญาติโยม จะให้มานั่งอยู่บนธรรมาสน์ใช้ไม่ได้แล้วเพราะมันมองไม่เห็นภาพ จึงต้องลงมือทำให้เห็นจริงในทุก ๆ เรื่อง ทั้งทำปุ๋ยหมัก ฝายกั้นน้ำในป่า ทำการเกษตรแบบพอเพียง ฯลฯ
“ที่วัดเรานำเอาเรื่องชีวิตจริงของเขามาผูกโยงไว้กับธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไบโอดีเซล ก็พยายามให้เขาเห็นถึงการพึ่งพาตัวเอง อยากใช้เท่าไหร่ก็ปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาเท่านั้น ไม่ต้องทำใหญ่โตหรือคิดเพื่อขาย ทำเก็บไว้ใช้แบ่งปันกัน ถ้าทุกคนในชุมชนปลูกและผลิตน้ำมันได้อย่างน้อยคนละ 150 ลิตร 100 คนก็เท่ากับ 1,500 ลิตร ประหยัดเงินไปได้มาก โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย อย่าไปคิดว่ามันขายไม่ได้เลยไม่สนใจ ให้คิดว่าทำเพื่อใช้เอง ซึ่งวัดจะเน้นในเรื่องของการพึ่งพาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น โดยให้ตระหนัก เห็นในเรื่องของจิตใจก่อน คือผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองก่อน อย่าคิดผลิตเพื่อขายเพราะชีวิตของคนเราเกิดมาก่อนจะตาย ไม่ได้มาเพื่อร่ำรวย และเสพสุข เกิดมาเพื่ออยู่ได้เอื้อเฟื้อแบ่งปันมีความสุขร่วมกันกับผู้อื่น เปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมดของชาวบ้านทำให้ชุมชนเริ่มเปลี่ยน ตอนนี้ก็จะมีของมาแจกกัน ทำให้จิตใจญาติโยมที่แต่ก่อนเคยอยากได้ อยากมีตอนนี้มันเริ่มเปลี่ยนหันมาพึ่งพากันเอื้อเฟื้อกันเพิ่มขึ้น” พระนักพัฒนา กล่าว
ดร.สุรพล ดำรงกิตติคุณ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่า การผลิตไบโอดีเซลนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะผลักดันให้กลุ่มชาวบ้านเข้ม แข็ง เราทำงานวิจัยเล็ก ๆ ที่อาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่การปลูก จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว แล้วเราก็มองว่าการใช้น้ำมันบนดอยอาจจะมีวิธีการที่มากกว่าการใช้สารเคมีไป บำบัดเพื่อให้น้ำมันใสขึ้น เราก็เปลี่ยนมาใช้น้ำกล้วยต้มแทนเพื่อที่จะทำให้น้ำมันใสขึ้นแทน ซึ่งเป็นจุดที่เราเริ่มเห็นว่ามันอาจจะมีความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ เพราะว่าทานตะวันเป็นพืชระยะสั้นปลูกเพียง 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้ สามารถปลูกหัวไร่ปลายนาได้ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว และดอกทานตะวันก็มีความสวยงาม ทำให้ เด็ก ๆ ชอบที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ในขณะเดียวกัน เราก็รวบรวมพืชพลังงานในท้องถิ่นอื่น ๆ มาศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างงานให้ชุมชน” หัวหน้าคณะผู้วิจัยกล่าว
ปัจจุบันคณะผู้วิจัยร่วมกับนักศึกษาพัฒนาเครื่องหีบน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน จนสามารถใช้การได้ดีในระดับท้องถิ่น และนำกลับขึ้นไปติดตั้งยังศูนย์เรียนรู้ของชุมชน โดยจากการศึกษาในปีที่ผ่านมา มีชาวบ้าน ที่ร่วมปลูกทานตะวันกับโครงการฯ ทั้งหมด 24 ไร่ ได้เมล็ดทานตะวันเฉลี่ยประมาณ 171-200 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเมล็ดทาน ตะวัน 22 กิโลกรัม จะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 7.3 ลิตร ซึ่งน้ำมันที่ได้ถูกนำมาทดสอบและทดลองใช้งานร่วมกับชุมชนโดยยังไม่พบปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด
“เรื่องของน้ำมันไบโอดีเซลเป็นจุดหนึ่งที่เรานำมาเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้าน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเขาต้องลองทำเองใช้เอง และเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่าการนำไปขาย ที่ต้องมีจุดคุ้มทุนซึ่งเป็นเรื่องของการค้า ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน"
ดังนั้นความยั่งยืนจึงต้องอยู่ที่จิตใจ จากจิตสำนึกที่ได้รู้ ได้เห็น และได้ทำ ซึ่งเป็นหลักของเศรษฐกิจพอเพียงที่ว่าด้วยการเข้าถึงและเข้าใจนั่นเอง” ดร.สุรพล สรุป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=28270
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า