ฟาร์มไก่ไข่ยุคใหม่กับการใชัระบบอีแว้ป
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 52
ฟาร์มไก่ไข่ยุคใหม่กับการใชัระบบอีแว้ป
ท่ามกลางสภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ไม่จำเป็น แม้แต่เรื่องของปากท้องยังต้องมีการจัดสรรปันส่วนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ผลิตได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังเช่นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องแบกรับภาระการขาดทุน แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบจะลดลงก็ตาม แต่ด้วยผลผลิตไข่ไก่ที่มีออกมาเกินความต้องการของตลาดทำให้ราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
แม้กระนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ไม่ได้หยุดนิ่งที่จะพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่ โดยให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีการปรับปรุงโรงเรือนและยังเน้นเรื่องการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดียิ่งขึ้น
เสาวลักษณ์ เหลืองเรณู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ชาวสิงห์บุรี เป็นอีกคนหนึ่งที่นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ ซึ่งก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไก่ไข่ดังเช่นทุกวันนี้ เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วจึงหันมาเลี้ยงเป็ดเทศและไก่เนื้อแบบอิสระ แต่ระยะหลังราคาแกลบที่ใช้ในการเลี้ยงกลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเสี่ยงต่อการขาดทุน จึงหันมาเลี้ยงไก่ไข่เนื่องจากให้ผลผลิตทุกวันและยังเป็นการลงทุนในครั้งแรกเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มีโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่แก่เกษตรกรรายย่อย จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการโดยได้ปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงทั้งหมดให้เป็นระบบการจัดการอันทันสมัย ทั้งระบบการเก็บไข่อัตโนมัติด้วยสายพาน การให้อาหารอัตโนมัติ รวมทั้งการกวาดมูลไก่โดยใช้ระบบสายพาน และเลี้ยงไก่ไข่ในระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือ Evaporative Cooling System (อีแว้ป) ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างมาก ทำให้ทองใบฟาร์มประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเลี้ยงไก่ไข่
“เมื่อปี 2548 เริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่ 26,000 ตัว แต่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมโรงเรือน เนื่องจากฟาร์มอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำ จึงย้ายมาอยู่ที่ฟาร์มในปัจจุบันที่หมู่ 3 ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นและสร้างโรงเรือนขนาดความจุ 36,000 ตัว เพิ่มอีก 1 หลัง รวมแล้วเลี้ยงไก่ไข่ทั้งสิ้น 62,000 ตัว โดยระบบการเลี้ยงของฟาร์มเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ซึ่งช่วยลดจำนวนแรงงานลงได้มาก จากแต่ก่อนเลี้ยงไก่ในจำนวนเดียวกันนี้ต้องใช้แรงงานมากถึง 15 คน แต่เมื่อหันมาใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติมาแทนทำให้ปัจจุบันใช้แรงงานเพียง 6 คน สำหรับขั้นตอนการแพ็กไข่ไก่และการทำความสะอาดโรงเรือนเท่านั้น ที่สำคัญจะเน้นเรื่องสุขอนามัยของไก่และความสะอาดโรงเรือนเป็นหัวใจสำคัญ” เสาวลักษณ์กล่าว
ส่วนวิธีการเลี้ยงไก่ไข่เริ่มจากการนำไก่สาวอายุ 17 สัปดาห์ ย้ายเข้าฟาร์ม โดยไก่จะใช้เวลาปรับตัวจากการเลี้ยงพื้นธรรมดาเป็นแบบขึ้นกรงในสัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเริ่มให้ไข่ที่ขนาดฟองเล็กน้ำหนักไม่ถึง 40 กรัม เรียกว่าไข่ไก่สาว จนกระทั่งไก่ให้ไข่น้ำหนัก 40 กรัมขึ้นไป จึงจะเริ่มนับเป็นสัปดาห์ที่หนึ่งในการให้ผลผลิต ซึ่งทางบริษัทจะรับประกันราคาไข่ฟองละ 2.20 บาท หากมีไข่บุบหรือแตกจะรับซื้อในราคาฟองละ 0.80 บาท ส่วนแม่ไก่ปลดนั้นก็ไม่ต้องกังวลเพราะทางบริษัทจะรับซื้อคืนในราคาตัวละ 100 บาทต่อรุ่น จึงไม่มีความเสี่ยงด้านการตลาด นอกจากจะได้รายได้จากการขายไข่ไก่และแม่ไก่ปลดแล้ว ยังมีรายได้จากการขายมูลไก่สด โดยขายในราคาถังละ 9 บาท ขายได้วันละ 120 ถัง จึงมีรายได้กว่า 1,000 บาทต่อวัน นอกจากจะเป็นรายได้เสริมแล้วยังช่วยลดปัญหากลิ่นรบกวนจากมูลไก่อีกด้วย
เสาวลักษณ์ บอกอีกว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างระบบไบโอแก๊สเพื่อใช้ในฟาร์มซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ถึง 70% จากเดิมที่เคยเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 66,000 บาท จะลดลงเหลือเพียงเดือนละ 10,000 บาท เท่านั้น โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างจำนวน 500,000 บาท จาก ม.เชียงใหม่
หัวใจของการเลี้ยงไก่ไข่ให้ประสบความสำเร็จ คือต้องใส่ใจในการเลี้ยงที่ถูกต้องเพราะไก่เป็นสิ่งมีชีวิตต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่เช่นเดียวกับมนุษย์ อีกประการคือ ระบบการจัดการภายในฟาร์มต้องดี เพราะหากเลี้ยงไก่ออกมาดี มีคุณภาพย่อมสะท้อนถึงการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ถึงเวลานั้นความสำเร็จคงไม่ไกลเกินความเป็นจริง เสาวลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=188956&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า