โรงสีข้าวยุคใหม่
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 52
โรงสีข้าวยุคใหม่
"การทำธุรกิจในปัจจุบันซึ่งมีการนำกลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาใช้ ยิ่งทำให้การแข่งขันมีความรุนแรง เราจึงยิ่งต้องละเอียดทุกจุด และควรมีการประเมินตัวเองว่ามีจุดด้อยตรงไหนที่ต้องเร่งแก้ไข ในฐานะโรงสีขนาดเล็กยิ่งจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน และควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงจะช่วยให้มีกำไรที่เหมาะสมและอยู่รอดได้”
นี่คือแนวคิดของ “จอมพจน์ เกษมรุ่งชัยกิจ” ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงสีรุ่งชัยกิจ โรงสีขนาดเล็กใน จ.กาฬสินธุ์ ที่มีกำลังการผลิต 80 ตันข้าวเปลือกต่อวัน ก่อตั้งมายาวนานกว่า 60 ปี แม้เป็นโรงสีขนาดเล็กยังยืนหยัดในธุรกิจอุตสาหกรรมโรงสีข้าวโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตบนพื้นฐานของความพอเพียง
จอมพจน์ เล่าให้ฟังว่า เข้ามาดูแลกิจการได้ 4 ปีแล้ว ในฐานะลูกชายคนโตหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเข้ามารับสืบทอดกิจการจึงได้ศึกษาธุรกิจและอุตสาหกรรมโรงสีข้าว พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจโรงสีมีการแข่งขันรุนแรง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันทางด้านราคา เพราะจากจำนวนโรงสีที่มีกว่า 43,000 แห่งทั่วประเทศ ทำให้มีการแย่งซื้อวัตถุดิบ คือ ข้าวเปลือก แต่เนื่องจากข้าวขาวที่สีได้มีคุณภาพไม่แตกต่าง ส่งผลให้เกิดการตัดราคาขายข้าวขาวกันเองระหว่างโรงสีด้วยกัน จึงถือเป็นความจำเป็นต้องมองหาวิธีลดต้นทุนการผลิต
เมื่อโจทย์ของโรงสีแห่งนี้ คือ การลดต้นทุน มุมมองของผู้บริหารซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ จึงพุ่งไปที่เทคโนโลยี แต่ปัญหาคือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องคุ้มค่า จึงมองหาหน่วยงานเข้าช่วยจนได้รู้จักกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนสำหรับการผลิตข้าวขาว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของโรงสีรุ่งชัยกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2551 ใน “โครงการการพัฒนาระบบควบคุมอัตโนมัติของเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวและเครื่องขัดขาว”
ผลที่ได้จากโครงการฯ ทำให้โรงสีรุ่งชัยกิจได้ระบบควบคุมอัตโนมัติใน 2 กระบวนการผลิตหลักสำหรับเครื่องกะเทาะเปลือกข้าว และเครื่องขัดขาว เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดจากเดิม 45% เพิ่ม ขึ้นเป็น 48.5% ได้ข้าวเต็มเมล็ดเพิ่มขึ้นปริมาณข้าวหักลดลง ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถเพิ่มมูลค่าข้าวต้นเป็นเงินกว่า 40,500 บาทต่อวัน และลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ โดยไม่เกิดประโยชน์ลงได้ประมาณ 100,000 บาทต่อปี เพราะการทำงานของเครื่องจะสั่งทำงานต่อเมื่อมีเมล็ดข้าวเปลือกตกลง เต็มหน้ายางเท่านั้น หากไม่มีข้าวเปลือก หรือมีข้าวเปลือกในปริมาณน้อยเกินไป ระบบจะหยุดทำงาน ทำให้สามารถลดเวลาเดินเครื่องกะเทาะเปลือกข้าวลงจากเดิมใช้เวลานานถึง 8 ชม.ต่อวัน เหลือเพียง 4-5 ชม.ต่อวัน
และยังช่วยยืดอายุการใช้งานของลูกยางกะเทาะเปลือกข้าว ลดการสิ้นเปลืองค่าอะไหล่ลูกยางดังกล่าวได้ถึง 128,000 บาทต่อปี อีกทั้งได้เพิ่มทักษะการทำงานให้กับบุคลากรของโรงสีอีกด้วย
ด้านนายสุรศักด์ จันทร์โทริ หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงสีข้าวภายใต้โครงการ iTAP เครือข่าย มข. กล่าวว่า โรงสีข้าวของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีมายาวนานกว่า 70 ปี ดังนั้นการจะพัฒนาประสิทธิภาพโรงสีต้องเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ เจ้าของโรงสีเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำวิทยาศาสตร์เข้าไปปฏิวัติระบบการแปรรูปข้าวให้มีประ สิทธิ ภาพที่ดีขึ้น ยังต้องเพิ่มทักษะความรู้วิธีการจัดการภายในโรงสี ตลอดจนนำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้ เพื่อให้สามารถตรวจวัดคุณภาพได้ อาทิ เครื่องวัดความเร็วลม, เครื่องวัดความแข็งของลูกยาง, เครื่องวัดอุณหภูมิของข้าว ฯลฯ ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ในโรงสีข้าวแต่อย่างใด
นายสุรศักด์ ยังบอกอีกว่า การได้เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดเพิ่มขึ้นแม้เพียง 1% ก็สามารถช่วยเพิ่มรายได้กลับเข้าโรงสีกว่า 10,000 บาท ดังนั้น หากปริมาณเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดจากกระบวนการสีข้าวได้เพิ่มขึ้น 3-5% ต่อวันก็ถือว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากสำหรับโรงสีขนาดเล็ก
และที่สำคัญกว่านั้นคือ ปัจจุบันเราสามารถลดปัญหาการนำเข้าเครื่องจักรราคาแพงที่ไม่เหมาะสมและการ ใช้งานเครื่องจักรที่ไม่ถูกต้องลงได้อีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=28285
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า