เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 52
ทีมวิจัยได้ทดลองสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช 8 ชนิด ได้แก่ กานพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพาและมะพร้าวแล้วนำไปทดสอบฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นชนิดดีพีพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% สามารถกำจัดไรฝุ่นได้ 100%
สมุรไพรถือกำเนิดมาจากธรรมชาติ มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในการช่วยส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค นอกจากนี้ยังมีคุณค่าด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ ตลอดจนคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ล่าสุด ทีมนักวิจัยไทยสามารถคิดค้นสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น สาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้ในมนุษย์ได้เป็นผลสำเร็จรายแรกของประเทศไทยและเป็นหนึ่งเดียวในโลกอีกด้วย
เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าสมุนไพรไทยเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์โดยเฉพาะคน ไทยที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทุกครัวเรือนมาตั้งแต่สมัยโบราณถือเป็นภูมิปัญญาไทย ที่ใช้สืบเนื่องกันมาช้านาน กานพลูและอบเชย ก็เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่เราทราบสรรพคุณกันดีว่ามีกลิ่นหอม หากสูดดมเข้าไปจะช่วยให้ผ่อนคลาย ทำให้นอนหลับสบาย หากใช้เป็นยาจะช่วยขับลมท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ฯลฯ
นอกจากสรรพคุณทางยาแล้วกานพลูและอบเชย ยังเป็นสมุนไพรไทยที่สามารถกำจัดไรฝุ่นได้อีกด้วย ผศ.ดร. อำมร อินทร์สังข์ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าทีมวิจัยกานพลูและอบเชยกำจัดไรฝุ่น อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการคิดค้นหาสมุนไพรไทยกำจัดไรฝุ่นมาเป็นเวลากว่า 8 ปี ว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่าคนไทยประมาณ 8-10 ล้านคนเป็นโรคภูมิแพ้ซึ่งมีสาเหตุมาจากไรฝุ่นที่มาจากเตียงนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม โดยเมื่อถูกมูลของไรจะทำให้มีอาการคันตา คันผิวหน้า เยื่อจมูกอักเสบ มีน้ำมูกไหล ไอ จาม หากเป็นมากจะมีอาการหอบหืดและบางรายอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้นทีมวิจัย ซึ่งมี จรงค์ศักดิ์ พุมนวน ผู้ช่วยนักวิจัย เป็นกำลังหลัก ได้ร่วมกันลงพื้นที่ที่อำเภอทองผาภูมิสำรวจความหลากหลายของไรฝุ่นและช่วยกันคิดค้นสมุนไพรกำจัดไรฝุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ 2544 จากการขอทุนโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ ในประเทศไทย หรือ BRT จากการสำรวจพบว่าไรฝุ่นเป็นสัตว์ขาปล้องชนิดเดียวกับแมลงมีขนาดประมาณ 0.3 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส มีการแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก มักพบในบ้านเรือน เช่น ตามที่นอน หมอน ผ้าห่ม โซฟา ผ้าม่าน พรม และตุ๊กตาที่ใช้วัสดุภายในเป็นเส้นใย ซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ด้วยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร มีวงจรชีวิตประมาณ 25 วัน โดยไรที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิดได้แก่ ไรเดอร์มาโทฟากอยเดส เทอโรนีสซินัส (Dermatophagoides Pteronyssinus) หรือคนไทยเรียกว่า ดีพี และไรโบเมีย ทรอบปิคาลิส (Blomia-tropicalis) ทั้งนี้จากการนำไรมาเพาะเลี้ยงพบว่า ไรดีพีแข็งแรงกว่าชนิดอื่น เราจึงเน้นไปที่การกำจัดไรดีพีเพราะถ้าหากไรดีพีตายไรชนิดอื่น ๆ ก็ตายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทีมงานยังได้พยายามคิดค้นหาสมุนไพรไทยมาสกัดเพื่อกำจัดไรฝุ่นโดย มองข้ามสารเคมีไปเพราะสิ่งที่เราจะกำจัดอยู่บนที่นอนและใกล้ตัวมนุษย์มาก จึงจำเป็นต้องใช้สมุนไพรที่ไม่มีสารเคมีตกค้างเพื่อความปลอดภัย
การคัดเลือกสมุนไพรเราคัดเลือกสมุนไพรกว่า 40 ชนิดในทุกพื้นที่ จนกระทั่งเหลือ 8 ชนิด โดยทีมวิจัยได้ทดลองสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช 8 ชนิด ได้แก่ กานพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพาและมะพร้าวแล้วนำไปทดสอบฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นชนิดดีพีพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% สามารถ กำจัดไรฝุ่นได้ 100% รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพลและตะไคร้หอมที่ความเข้มข้น 1.5% กำจัดไรฝุ่นได้ 93.3%, 90.0% และ 76.7% ตามลำดับ ทีมวิจัยจึงเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตสเปรย์กำจัดไรฝุ่น เนื่องจากมีความเข้มข้นน้อยแต่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้ผลเต็มร้อย ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรอื่นใช้เป็นส่วนประกอบรอง พร้อมทั้งได้ทดลองแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส กาแฟและมะลิ ซึ่งจากการทดสอบประสิทธิภาพก็ยังสามารถกำจัดไรฝุ่นได้ 100% เช่นเดิมและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
หลังจากทดลองได้ผลแล้วจึงได้ทำการจดสิทธิบัตรเป็นฝีมือคนไทยไปเมื่อปี 2551 ขณะนี้กำลังรอให้องค์การอาหารและยา (อย.) ออกใบอนุญาตจำหน่าย แต่ได้มีการบรรจุกระป๋องเพื่อทดลองใช้บ้างแล้วรวมทั้งมีบริษัทเอกชนติดต่อ เข้ามาขอซื้อสูตรเพื่อจัดจำหน่ายหลายบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณปี 2548-2549 เคยจดสิทธิบัตรไปแล้ว 1 ครั้งแต่กานพลูและอบเชยที่สกัดมานั้นเป็นสารสกัดหยาบสารออกฤทธิ์ได้ผลดีก็ จริงแต่มีข้อเสีย 2 ข้อ คือ สีของมันซึ่งเป็นสีเหลืองปนเปื้อนที่นอนผู้ใช้ไม่พึงพอใจเนื่องจากซักออกยาก และในการควบคุมเชิงพาณิชย์ควบคุมยากจึงไม่สามารถใช้งานได้
แต่สำหรับครั้งนี้ได้ศึกษาวิจัยสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ฆ่าไรฝุ่น ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ โดยกานพลูมีฤทธิ์อันดับ 1 และอบเชยเป็นอันดับ 2 ซึ่งการสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้จะมีสีใสไม่เปื้อนที่นอนและสามารถควบ คุมสเปกการผลิตได้จึงถือเป็นผลสำเร็จที่ดีที่สุด ส่วนวิธีการใช้มี 2 แบบ คือสัมผัสตายและการรม หากใช้กับฟูกที่นอนใช้วิธีรม โดยฉีดสเปรย์น้ำมันหอมระเหยกานพลูและอบเชยลงบนที่นอนให้ทั่วแล้วใช้ผ้าห่มหนา ๆ หรือพลาสติกคลุมไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ในเดือนแรกฉีด 2 ครั้ง อาทิตย์เว้นอาทิตย์จากนั้นฉีดซ้ำทุก ๆ 1-2 เดือน และสำหรับในหมอน ผ้าห่ม ผ้าม่าน เสื่อ โซฟา ตู้ โต๊ะ ตุ๊กตา ฯลฯ ใช้วิธีฉีดแบบสัมผัสตายโดยไม่ต้องรมก็ได้ วิธีใช้ฉีดให้ทั่วอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเดือนแรกให้ฉีดอาทิตย์เว้นอาทิตย์และฉีดซ้ำทุก ๆ 1-2 เดือน
อย่างไรก็ตาม การป้องกันไรฝุ่นและกำจัดไรฝุ่นด้วยวิธีเดิมนั้นปกติหากเราใช้เครื่องนอนมานานหลายปีพบว่ามีไรฝุ่นจำนวนมากบางบ้านอาจจะทิ้งเครื่องนอนแล้วซื้อใหม่ บางบ้านใช้วิธีเคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น ซึ่งสามารถป้องกันได้เพียงระยะหนึ่ง ส่วนการดูดฝุ่นนั้นสามารถเคลื่อนย้ายตัวไรฝุ่นออกจากที่นอนหรือพรมได้น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์และสำหรับการซักเครื่องนอนด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 55 องศาเซลเซียส จะสามารถฆ่าตัวไรฝุ่นและกำจัดสารก่อภูมิแพ้ออกจากเครื่องนอนได้ แต่การซักด้วยน้ำเย็นหรือซักผ้าปกติแม้จะไม่สามารถกำจัดไรฝุ่นได้แต่ทำให้ลด สารก่อภูมิแพ้ได้หรือหากใช้สารเคมีป้องกันไรฝุ่นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ดังนั้นสมุนไพรไทยจากภูมิปัญญาคนไทยที่สามารถคิดค้นหาคุณประโยชน์ต่าง ๆ นำมาสกัดเป็นสารกำจัดไรฝุ่นได้ จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราจะเลือกสรรมาใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิด ประโยชน์มากที่สุด.
วิธีทำสารสกัดกานพลูและอมเชยกำจัดไรฝุ่นใช้เองที่บ้าน
ขั้นตอนแรกให้นำกานพลูส่วนก้านดอก และเปลือกอบเชย (หาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนโบราณ) ประมาณ 250 กรัม เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมาบดให้ละเอียดนำมาแช่กับสารเอทิลแอลกอฮอล์จำนวน 1 ลิตร จากนั้นปิดฝาให้สนิทปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 คืน แต่ต้องคนเป็นระยะ ทุก ๆ 3 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดแล้วให้กรองเอากากออกจะได้เป็นน้ำขุ่น ๆ สีเหลืองเข้ม เรียกว่าสารสกัดหยาบ
สำหรับวิธีการใช้ให้นำน้ำที่ได้ไปใส่กระบอกฉีดน้ำ (Foggy) แล้วฉีดลงบนที่นอนเพื่อฆ่าไรฝุ่น แต่เนื่องจากน้ำที่ได้เป็นสารสกัดหยาบไม่ใช่น้ำมันหอมระเหย จึงมีสีปนเปื้อนจะทำให้สีเลอะที่นอนได้ หากกังวลสีปนเปื้อนที่นอนสามารถใช้วิธีรมด้วยการใช้กระดาษปูบนที่นอนแล้วฉีด ลงบนกระดาษให้ทั่วจากนั้นใช้ผ้าหนา ๆ หรือพลาสติกคลุมไว้ โดยรมทิ้งไว้ตั้งแต่เช้าจนเย็นก็สามารถกลับมานอนได้ตามปกติ ในเดือนแรกควรฉีดอาทิตย์เว้นอาทิตย์และฉีดซ้ำทุก ๆ 1-2 เดือน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=28484