'ก๊าซชีวภาพ' จาก 'ขี้หมู' สู่ครัวเรือน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 52
'ก๊าซชีวภาพ' จาก 'ขี้หมู' สู่ครัวเรือน
"
ก๊าซชีวภาพ” หรือ “ก๊าซขี้หมู” ของบ้านสบสาหนองฟาน ต.ดอน แก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างเจ้าของฟาร์มกับชาวบ้านเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหามลพิษและกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงหมู จึงทำให้ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์ม ร่วมกับหน่วยงานราชการสร้างระบบบ่อหมักก๊าซชีวภาพขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องมลพิษและแมลงวัน แล้วก็ต่อท่อก๊าซไปให้ชาวบ้านได้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ชาวบ้านสามารถประหยัดค่าก๊าซหุงต้มไปได้ไม่น้อยกว่าครัวเรือนละ 50-100 บาทต่อเดือน
หลังจากนั้นชาวบ้านต่างคนก็ต่างใช้โดยปล่อยบ่อหมักก๊าซทำงานไปตามธรรมชาติ โดยขาดการดูแลรักษา เวลาผ่านไปปริมาณก๊าซเริ่มน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จนชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นในระบบพลังงานทดแทน ส่งผลให้ชาวบ้านหลายคนเริ่มคิดว่าการใช้พลังงานทดแทนที่จะมาแทนก๊าซหุงต้ม ไม่น่าจะเป็นไปได้จริงอย่างยั่งยืน ทำให้สมาชิกที่ใช้ก๊าซในหมู่บ้านเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากเดิมที่ใช้กันทั้งหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 100 หลังคาเรือนก็ลดลงเหลือไม่ถึง 60 หลังคาเรือน
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงได้วิจัยเรื่อง “การใช้ประโยชน์ของเสียจากฟาร์มสุกร โดยการแปรสภาพเป็นพลังงานทดแทนในชุมชน”
นายสุรศักดิ์ นุ่มมีศรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ระบุว่า ถ้าปล่อยแบบนี้ต่อไปพลังงานก็จะถูกทิ้งร้าง ไม่ได้รับการนำไปใช้ประโยชน์ ชาวบ้านก็จะไม่ได้มีพลังงานทางเลือกอื่น จึงได้จัดเวทีพบปะพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านได้ มองเห็นว่าแต่ก่อนนี้เป็นอย่างไร ปัจจุบันระบบก๊าซเขาเป็นอย่างไร เสื่อมโทรมมากน้อยแค่ไหน โดยให้พ่อหลวงเป็นคนเล่าให้ฟัง แล้วก็ถามถึงอนาคตของชาวบ้านว่าอยากจะมีทางออกอย่างไรโดยให้ทุกคนได้ร่วม แสดงความคิดเห็นชาวบ้านก็บอกว่าอยากจะมีพลังงานที่ดีขึ้น มีพลังงานที่เพียงพอ จึงได้เชิญนักวิชาการมาพูดคุยให้ฟังว่า ถ้าจะทำให้พลังงานเพียงพอก็จะต้องมีการล้างบ่อ มีการเปลี่ยนระบบท่อใหม่ ชาวบ้านก็หาทางออกร่วมกันอีกครั้งเพื่อรักษาระบบพลังงานทดแทนนี้ โดยเต็มใจที่จะจ่ายครัวเรือนละ 10 บาทต่อเดือน สำหรับเป็นค่าดูแลรักษาระบบการผลิตและระบบท่อส่งก๊าซทั้งหมด
นายสุทัศน์ คำมาลัย ผู้ใหญ่บ้านบ้านสบสาหนองฟาน และเจ้าของฟาร์มหมูซึ่งเป็นผู้ผลิตก๊าซชีวภาพให้กับชุมชน เล่าว่าปัจจุบันมีชาวบ้านที่ใช้ก๊าซจากขี้หมูจำนวน 87 ครัวเรือน โดยมีกติกาของชุมชนคือเก็บบ้านละ 10 บาท ส่วนบ้านที่ค้าขายอาหารทำร้านก๋วยเตี๋ยวก็เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มเป็นเดือนละ 30 บาท โดยเงินที่รวบรวมได้จะนำไปฝากธนาคาร เพื่อเอาไว้บำรุงรักษากรณีท่อแตก ล้างบ่อ และซ่อมระบบ
“ชาวบ้านตกลงกันว่าจะล้างทุก ๆ 6 เดือน เพราะที่ผ่านมาเกือบ 10 ปีเราไม่เคยได้ล้างบ่อเลย เพราะไม่เคยรู้ว่าจะต้องล้าง ทำให้ปีหลัง ๆ มีก๊าซน้อยมาก เพราะว่าข้างในบ่อหมักก๊าซเต็มไปด้วยขยะ และเศษดินเข้าไปปะปนจนแน่นบ่อ จนต้องใช้เวลาล้างกันเป็นอาทิตย์ หลังจากนั้นจึงมีก๊าซขึ้นมาสม่ำเสมอ แต่จะมีปัญหาบ้างก็ตอนฝนตกหนัก เพราะมีน้ำเข้าไปในบ่อเยอะเกินไปทำให้ก๊าซน้อยลง และบางครั้งในหน้าหนาวก็อาจจะมีก๊าซน้อยเพราะอากาศเย็นอุณหภูมิไม่เหมาะสม แต่ก๊าซที่ได้ก็เพียงพอต่อการใช้งานทุกครัวเรือน เพราะชาวบ้านใช้แค่หุงต้มไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ทุกบ้านก็จะมีถังก๊าซหุงต้มสำรองไว้” สุทัศน์กล่าว
ก๊าซขี้หมูตอนนี้มีให้ใช้ได้ทั้งวันและไม่มีกลิ่นขี้หมู โดยแตกต่างจากก๊าซหุงต้มก็ตรงเรื่องของความร้อนที่จะร้อนช้ากว่าเท่านั้น แต่ก็สามารถประกอบอาหารทุกอย่างได้ตามปกติ นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 ตุลาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=28500
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า