เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 52
แม้ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่า ในปี 2553 ความต้องการข้าวขัดสีในตลาดโลกจะมีแนวโน้มพุ่งสูงสุดในรอบ 49 ปี เนื่องมาจากผลผลิตข้าวทั่วโลกจะลดลงถึง 2.7% อยู่ที่ 433.6 ล้านตัน เช่นเดียวกับ นายอาร์เธอร์ ยัพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ได้กล่าวในการประชุมบนเกาะเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ (28 ต.ค.52) ว่าราคาข้าวในปี 2553 มีแนวโน้มพุ่งทำสถิติสูงสุดอีกครั้งเหมือนเมื่อปี 2551
สอดคล้องกับที่ นายดไวท์ โรเบิร์ตส์ ประธานกรรมการสมาคมผู้ผลิตข้าวสหรัฐ ซึ่งกล่าวในงานเดียวกันว่า สภาพแวดล้อมในปัจจุบันสร้างความเป็นไปได้ว่า ราคาข้าวจะหวนกลับไปแตะระดับสูงสุดอีกครั้ง โดยราคาข้าวในสหรัฐ ซึ่งส่งออกข้าวราย ใหญ่อันดับ 4 ของโลก จะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 16 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ (45 กก.) ในช่วงต้นปีหน้า จากราคา 12 ดอลลาร์ในปัจจุบัน เนื่องจากเกิดปัญหาสภาพอากาศชื้นและเย็น ทำให้กำลังผลิตข้าวลดลง รวมทั้งภัยแล้งและพายุ กระทบการจัดหาข้าวในละตินอเมริกา อินเดีย และฟิลิปปินส์ก็ตาม (กรุงเทพธุรกิจ 29 ต.ค.52)
แต่นั่นไม่ใช่ผลพลอยได้และไม่ใช่โอกาสทองของชาวนาไทย เนื่องมีปัจจัยอีกมากมายที่จะบั่นทอนต่อรายได้ของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะราคาน้ำมันคาดว่าที่พุ่งขึ้นจะผลักดันให้ราคาปุ๋ยสูงขึ้นตามมาด้วย และที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้นคือ การที่ไทยแสดงสปิริตด้วยการนำร่องลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 0% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ภายใต้กรอบข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) และอีก 10 ปีข้างหน้าการค้าไทยกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะไม่มีกำแพงภาษี ทำให้หลายฝ่ายต่างกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวภายในประเทศอย่างรุนแรง และตลาดส่งออกของไทยในอนาคตด้วย
เนื่องจากปัจจุบันผลผลิตข้าวของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก เฉลี่ยไร่ละไม่เกิน 600 กิโลกรัม แต่ที่ค่าแรงและราคาปุ๋ยอยู่ในอัตราสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามด้วย ขณะที่ข้าวลูกผสมของจีนได้ถึง 2,400 กิโลกรัมต่อไร่ และเวียดนามได้กว่า 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ตรงนี้อาจทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลางหันไปบริโภคข้าวที่นำข้าว รวมไปถึงผู้ส่งออกอาจนำข้าวจากปลอดภาษี 0% จากต่างประเทศเพื่อส่งออกต่อไปเพราะราคาต่ำกว่า สุดท้ายผลผลิตข้าวของไทยจะเกิดภาวะล้นตลาดและราคาตกต่ำได้
ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบเกี่ยวกับสินค้าข้าว ภายหลังเปิดเสรีอาฟตา จะมีผลกระทบ 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ผลกระทบทางจิตวิทยากับชาวนา 2.หากมีการนำเข้าข้าวจำนวนมาก จะทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ 3.ผู้ส่งออกอาจนำเข้าข้าวในอาฟตามาส่งออกต่อ เพราะราคาต่ำกว่าไทย และนำเข้าข้าวที่มีคุณภาพ ด้อยกว่ามาผสมกับข้าวไทย กระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในต่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตข้าวภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ และ 4.ข้าวที่นำเข้ามาอาจเป็นข้าวดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ
ขณะที่ไทยแสดงสปิริตด้วยการนำร่องลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 0% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553 ล่าสุดท่าที่ของประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย บอกว่า ฟิลิปปินส์ยังตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวไว้ที่ 40% และขอขยายระยะเวลาการลดภาษีออกไปจนถึงปี 2557 ประเทศมาเลเซียยอมลดภาษีข้าวลงเหลือ 20% ตามกรอบข้อตกลง ส่วนอินโดนีเซียตั้งกำแพงภาษีข้าวไว้ที่ 25%
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย และที่ปรึกษาสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ผลการเจรจาประเทศสมาชิกอาเซียนที่ตกลงลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 0% ในวันที่ 1 มกราคม 2553 มีสิงคโปร์ บรูไน ซึ่งลดอยู่แล้ว และไทยที่สาม ที่เหลือจะมีผลบังคับในปี 2558 ฉะนั้นในช่วง 5 ปีแรกไทยอาจจะเสียเปรียบ เพราะถูกบังคับด้วยกฎกติกาที่ไทยต้องนำข้าวจากประเทศสมาชิก แต่เฉพาะปลายข้าวเท่านั้นที่จะนำเข้าจากพม่า ส.ป.ป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยเฉพาะพม่าถูกกว่าไทยครึ่งต่อครึ่ง อย่างข้าวเปลือกในพม่าราคาตันละ 5,000 บาท แต่ของไทยซื้อขาย 8,800 บาท รัฐชดเชยในรูปแบบของประกันราคาตกตันละ 1 หมื่นบาท
"ช่วงที่เราไม่ลดภาษี ก็มีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศพม่ามาฝากในสต็อกข้าวอยู่แล้ว การที่เราลด 0% ในต้นปีหน้าเราเสียบ้าง แต่อีก 5 ปี หากทุกประเทศในอาเซียนลด 0% ตามที่คุยกันเราจะได้เปรียบ โดยเฉพาะในมาเลเซียซึ่งมีกำลังซื้อสูงเราจะได้ส่งออกข้าวหอมมะลิ แต่ตลาดล่างเราจะเสียเปรียบตรงที่ตลาดระดับล่างของไทยเราเองที่มีส่วนหนึ่งที่จะกินราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัญหามีตรงที่ว่า เมื่อถึงปี 2558 ทุกประเทศจะยอมลดภาษี 0% ตามที่ตกลงหรือไม่ ผมไม่อยากเดา เพราะบางประเทศอาจไม่แน่นอน มีบางประเทศอาจอ้างไม่พร้อมก็ได้" นายปราโมทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุมอาเซียนที่ผ่านมา นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับรัฐมนตรีการค้าฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับการลดภาษีข้าวในกรอบอาฟตา ซึ่งฟิลิปปินส์พร้อมพิจารณาข้อเสนอของไทยที่ให้ฟิลิปปินส์เปิดโควตาข้าวให้ ไทย 3.7 แสนตัน อัตราภาษี 0% หรือลดภาษี 20-25% เท่ากับมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อชดเชยกรณีที่ฟิลิปปินส์ไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงเดิมของอาฟตาในการลดภาษีข้าว เพราะขณะนี้ฟิลิปปินส์เรียกเก็บภาษีข้าวในอัตรา 40% อยู่
ขณะที่ไทยเปิดเกมรุกเจรจากับประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อดำเนินการตามข้อตกลงเดิมของอาฟตาในการลดภาษีข้าว แต่กลับตรงกันข้ามกับเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่เป็นคู่แข่งของไทยนั้น กลับไม่สนใจว่าฟิลิปปินส์จะลดภาษีหรือไม่ เพราะวันนี้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของฟิลิปปินส์นั่นเอง
ผลการศึกษาของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า แม้ไทยจะมีอัตราขยายตัวการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 13.4% แต่เวียดนามกลับมีอัตราขยายตัวการส่งออกข้าวมากกว่าไทย ในอัตรา 15.2% นอกจากนี้การส่งออกข้าวของไทยระหว่างปี 2553-2558 มีอัตราเฉลี่ยขยายตัวอยู่ที่ 8.7% ขณะที่เวียดนามมีอัตราขยายตัวส่งออกข้าวอยู่ที่ 9.1% ที่สำคัญตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ไทยมีส่วนแบ่งตลาดข้าวในอาเซียนน้อยกว่าเวียดนาม อาทิ ในปี 2551 ไทยส่งออกข้าวในตลาดอาเซียนมีมูลค่า 1,043 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกข้าวไปอาเซียน 1,579 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฉะนั้นการที่ไทยลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 0% ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน ในวันที่ 1 มกราคม 2553 หากไทยไม่มีการปรับตัวและวางท่าทีไม่ดี จะทำให้ข้าวไทยเกิดภาวะล้นตลาด และไทยอาจเสียตลาดส่งออกข้าวได้ในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20091102/35296/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%