เกษตรฯเปิดแผนส่งเสริมปลูก 'พืชฤดูแล้ง' ปี 52
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 52
เกษตรฯเปิดแผนส่งเสริมปลูก 'พืชฤดูแล้ง' ปี 52
ปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่นาปรังทั้งในและนอกเขตชลประทานมีปัญหาแทบทุกปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนด มาตรการในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยเน้นบริหารจัดการน้ำต้นทุนให้เพียงพอกับความต้องการของพื้นที่เพาะปลูก เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้คึกคักมากขึ้นด้วย
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายวิชาการ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการวางแผนและส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง กล่าวว่า ปี 2551/52 นี้ กระทรวงเกษตรฯได้กำหนดเป้าหมายการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ จำนวน 14.41 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง จำนวน 11.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 8.79 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.82 ล้านไร่) และพืชไร่-ผัก จำนวน 2.80 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.76 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.04 ล้านไร่) ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปริมาตรน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก โดยมีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 55,503 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯทั้งหมด ยกเว้นเขื่อนบางพระ จังหวัดชลบุรีและเขื่อนแม่กวง จ.เชียงใหม่ ที่มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์น้อย โดยมีปริมาตรน้ำ 52 และ 90 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 และ 34 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด
เบื้องต้นที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณ น้ำต้นทุนและให้เพียงพอกับความต้องการของพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 18,649 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของปริมาณน้ำใช้งานได้ทั้งหมด โดยให้จัดสรรน้ำแก่พื้นที่เพาะปลูกตามลำดับความสำคัญ คือ 1.พื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากฤดูนาปีและสวนผลไม้ 2.พื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในรอบเวรการส่งน้ำ 3.พื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย เช่น การปลูกพืชไร่-พืชผัก และ 4.การทำนาปรังเพื่อเพิ่มพูนรายได้
การส่งเสริมปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ในส่วนของพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ โครงการกำแพงเพชร และโครงการพิษณุโลกให้ปลูกข้าวนาปรังได้ไม่เกิน 5.83 ล้านไร่ โดยให้มีการกระจายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและพืชไร่-ผักด้วย เน้นให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ข้าวพันธุ์ดีและเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม พร้อมส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินและส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และ สารชีวภาพ ทั้งยังเน้นให้ลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย
ขณะเดียวกันยังจะส่งเสริมให้ปลูกข้าวนาปรังเร่งปรับปรุงคุณภาพผลผลิตตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ด้วยการแก้ไขปัญหาข้าววัชพืชและวัชพืชในนาข้าวเพื่อลดปัญหาข้าวปน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนากระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว และเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซังและงดการเผาฟางข้าวเพื่อลดมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
นายโอฬารกล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งรัดการผลิตและขยายพื้นที่ปลูกพืชไร่-ผักที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี รวมทั้งพืชทดแทนการนำเข้าและพืชอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำน้อยและมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตป้อนตลาดได้เร็วขึ้น สำหรับพืชไร่ที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นและมีช่องทางการตลาดดีในช่วงฤดูแล้งปี 2551/52 นี้ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูแล้งปี 2551/52 นี้ เกษตรกรควรใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างประหยัด และควรใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด อย่าเห็นแก่ได้..โปรดเอาใจเขามาใส่ใจเรา ประนีประนอม ปรองดองซึ่งกันและกัน...แล้วกรณีพิพาทแย่งชิงน้ำก็จะไม่เกิดขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=189052&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า