เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 52
"พริก" เป็นพืชเศรษฐกิจของหลายประเทศทั้งจีน สหรัฐอเมริกา โบลิเวีย รวมทั้ง ประเทศไทย นอกจากจะใช้ประโยชน์ในการปรุงรสอาหารเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติให้ "เปิบ" ได้แซบอร่อยลิ้น พืชชนิดนี้ยังมีสรรพคุณด้าน บรรเทาอาการหวัด ลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดปริมาณคอเลสเทอรอล และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
แต่การบริโภคพริกสดยังมีข้อจำกัดทั้ง ด้านการเน่าเสียง่าย คุณภาพผลิตผลไม่สม่ำเสมอ อีกทั้งในบางฤดูยังมีปริมาณมากเกินความต้องการ ช่วงระยะหลังจึงได้นำมาแปรรูปด้วยวิธีการผึ่งแดดให้แห้ง ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวบางครั้งคุณภาพที่ได้ไม่ถูกหลักอนามัยเท่าที่ควร
ฉะนี้ ดร.วิริยา พรมกอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้วิจัยคิดค้น "เครื่องอบแห้งตู้อบลมร้อน" ขึ้น เป็นการศึกษาแบบจำลองการทำความชื้นและใช้พริกพันธุ์หัวเรือย่นทดสอบขณะอบแห้ง โดยได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ดร.วิริยา บอกว่า วิธีการนำพริกไปผึ่งแดดให้แห้ง แม้จะไม่มีต้นทุนแต่ก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากแมลง หนู นก และจุลินทรีย์ และบางครั้งคุณภาพของพริกแห้งยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามหลัก GMP ที่เพียงพอ
สำหรับส่วนอุตสาหกรรม ดังนั้น การใช้เครื่องอบแห้งตู้อบลมร้อนจึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งกลไกการอบถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับขั้นตอนการศึกษา เริ่มจากใช้ พริกสดพันธุ์หัวเรือย่น ที่ได้จากเกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษ นำมาศึกษาลักษณะทางโครงสร้าง ซึ่งหลังนำพริกมาผ่านการแช่สารเคมีก่อนทำการอบแห้งที่สภาวะต่างๆ พร้อมทั้งศึกษาค่าทางกายภาพของพริกสดและพริกขณะการอบแห้ง การเปลี่ยนแปลงค่าความร้อน ค่าสัมประสิทธิ์ของน้ำในพริกขณะอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อน จากนั้นนำมาเปรียบเทียบพริกที่ทำแห้งด้วยวิธีผึ่งแดด การนำไปผ่านการลวกและไม่ผ่านการลวกน้ำร้อน
จากการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่า การทำแห้งด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ร่วมกับการใช้สารละลายโซเดียมเมตาไบซัลไฟท์ จะช่วยทำให้พริกแห้งมีสีสดมากที่สุด ส่วนการใช้สารละลายผสมระหว่างโซเดียมเมตาไลซัลไฟท์ และ แคลเซียมคลอไรด์ หลังนำไปอบที่อุณหภูมิการทำแห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 4 ชั่วโมง จะช่วยรักษาสีของพริกให้มีความใกล้เคียงกับผลิตผลสดมากที่สุด
และการแช่พริกในสารละลายทั้งสองชนิดก่อนการทำแห้ง นอกจากช่วยดึงความชื้น (น้ำ) ออกจากพริก ยังทำให้โครงสร้างมีรูพรุนมากขึ้น และใช้เวลาอบแห้งน้อยกว่าการไม่ใช้สารละลาย
จากการทดลองศึกษาในครั้งนี้ ทำให้สามารถรู้วิธีขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมในการอบ ซึ่งนอกจากช่วยทำให้พริกแห้งเร็ว สีสวยงามน่าบริโภค เครื่องอบลมร้อนดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้อบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเกษตรชนิดอื่นๆได้อีกด้วย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-4535-3500 ต่อ 2203 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552
http://www.thairath.co.th/content/edu/43819