เมื่อวันที่ 27 มกราคม 52
วิธีการคั้นน้ำอ้อยสดที่ผ่านมาต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากที่มีความชำนาญในขณะผลผลิตที่ได้ก็อยู่ในปริมาณที่จำกัด ส่งผลให้เพิ่มต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
แต่หลังจากที่ รศ.ดร.มงคล กวางวโรภาส และอ.พิมพ์พรรรณ ปรืองาม อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วิจัยกระบวนการผลิตน้ำอ้อยคั้น “เครื่องทำความสะอาดอ้อยชนิดที่ไม่จำเป็นต้องปอกเปลือกและเครื่องคั้นน้ำอ้อยสด” เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประหยัดแรงงานก็น่าจะช่วยในการลดต้นทุนการผลิตได้ในระดับหนึ่ง
"แต่เดิมการปอกเปลือกอ้อยต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากที่มีความชำนาญจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงใช้เวลามากและผลิตได้ปริมาณจำกัด โดยจากการทดลองใช้แรงงานคนปอกเปลือกอ้อยพันธ์สุพรรณบุรี 50 มีอัตราการทำงานเฉลี่ย 1 คน ผลิตได้ 72.26 กิโลกรัม ในเวลา 1 ชั่วโมง แต่การนำเครื่องขัดผิวอ้อยมาใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยคั้นน้ำ จึงเป็นวิธีที่สามารถประหยัดเวลาและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพราะการขัดจะไม่สูญเสียเนื้ออ้อยไปกับเปลือกทำให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำอ้อยเพิ่มขึ้นเมื่อคิดจากวัตถุดิบจำนวนเท่ากัน" รศ.ดร.มงคล เผย
รศ.ดร.มงคลกล่าวต่อว่า ทีมวิจัยแบ่งกระบวนการผลิตน้ำอ้อยออกเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ใช้เครื่องปอกผิวอ้อยที่ออกแบบเครื่องไว้ 2 แบบ คือเครื่องขัดผิวท่อนอ้อยชนิดขัดตามแนวยาว โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1/3 แรงม้า มีล้อสายพานชนิดสองร่องติดอยู่ที่เพลามอเตอร์ สายพานเส้นแรกขับเพลาของแรงขัดชุดที่หนึ่ง และสายพานเส้นที่สองจะไขว้กันฉุดเพลาของแปรงขัดชุดที่สอง ทำให้หมุนในทิศทางตรงข้ามกัน ขนของแปรงขัดทำจากลวดทองเหลือง ช่องว่างระหว่างแปรงขัดผิวชุดที่สองกับชุดที่หนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเครื่องนี้สามารถขัดท่อนอ้อยได้ทุกขนาดโดยมีอัตราการทำงานเท่ากับ 127.93 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง
"ข้อจำกัดของเครี่องขัดผิวท่อนอ้อยชนิดขัดตามแนวยาวก็คือ ยังต้องอาศัยแรงงานคนจับและหมุนลำอ้อยตลอดเวลาการทำงาน และต้องคอยระวังไม่ปล่อยให้อ้อยออกจากเครื่องเร็วเกินไป เครื่องปอกผิวอ้อยแบบที่ 2 คือ เครื่องขัดผิวท่อนอ้อยแบบป้อนต่อเนื่อง และอ้อยควรมีลักษณะตรง ยาว ประมาณ 100-120 เซนติเมตร อ้อยจะถูกสอดอยู่ระหว่างลูกกลิ้งเหล็ก การหมุนของลูกกลิ้งเหล็กทั้งสองซึ่งจะหมุนตามเข็มนาฬิกา ทำให้ท่อนอ้อยเคลื่อนที่เข้าสู่แปรงขัดเองโดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องประคองท่อนอ้อย อัตราการทำงานเท่ากับ 276.96 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง"
หัวหน้าทีมวิจัยคนเดิมย้ำด้วยว่า ส่วนขั้นตอนที่ 2 เครื่องคั้นน้ำอ้อย ซึ่งออกแบบโดยใช้ต้นกำลังเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1.5 kw ใส่ท่อนอ้อยทางช่องป้อนครั้งละ 1 ลำ ลูกหีบตัวบนและตัวล่างอันแรกจะถูกรีดออกจนกากอ้อยแห้ง ระหว่างลูกหีบชุดที่สองน้ำอ้อยจะไหลลงสู่ตะแกรงกรองที่อยู่ด้านล่างของลูกหีบเพื่อกรองเศษผงใต้ตะแกรงซึ่งเป็นถาดรองรับน้ำอ้อยไหลออกภายนอกผ่านกรวย โดยใช้อัตราการทำงานเฉลี่ย 738.06 กิโลกรัม จะได้น้ำอ้อยประมาณ 334.28 กิโลกรัมต่อ 1 ชั่วโมง
จะเห็นได้ว่าการผลิดอ้อยเป็นงานที่ยากและใช้เวลาพอสมควร กว่าจะผ่านกรรมวิธีเพื่อจะนำผลผลิตไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาเครื่องทำความสะอาดอ้อยชนิดที่ไม่จำเป็นต้องปอกเปลือกและเครื่องคั้นน้ำอ้อยสดดังกล่าว จึงสามารถเพิ่มผลผลิต ประหยัดเวลา และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการนำอ้อยไปใช้ในอุตสาหกรรมนอกเหนือจากการผลิตน้ำตาลเพียงอย่างเดียว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 27 มกราคม 2552
http://www.komchadluek.net/2009/01/27/x_agi_b001_334046.php?news_id=334046