เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 52
นายสัตวแพทย์นิรันดร เอื้องตระกูลสุข ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมปศุสัตว์มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเนื่องจากเป็นอาชีพที่ ให้รายได้สูง กำไรมาก และต้นทุนการผลิตต่ำ แต่เกษตรกรอาจประสบปัญหาหากมีโรคระบาดที่ทำให้สูญเสียผลผลิตเกิดขึ้น โดยโรคระบาดที่มักเกิดในแพะ-แกะในประเทศไทย คือ โรคบรูเซลโลสิส หรือโรคแท้งติดต่อ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ ทั้งนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และแม้ว่าอัตราการเกิดโรคในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่กรมปศุสัตว์ยังคงไม่นิ่งนอนใจและได้จัดแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โรคบรูเซลโลสิสพบได้ในทุกฤดูกาล เกิดจากการติดเชื้อ Brucella melitensis ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางด้านระบบสืบพันธุ์ในแพะ-แกะ โดยแพะ-แกะเพศเมียที่ติดโรคนี้จะมีอาการผสมไม่ติด แท้ง หรือลูกสัตว์คลอดก่อนกำหนดและไม่แข็งแรง ส่วนแพะ-แกะเพศผู้จะมีอาการลูกอัณฑะอักเสบบวมและน้ำเชื้อไม่แข็งแรง ทำให้อัตราการผสมติดต่ำ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสูญเสียผลผลิต
นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ โดยผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งสัตว์ที่ติดเชื้อผ่านทางบาดแผล โดยผู้ป่วยเพศชายจะมีอัณฑะอักเสบ และมีอาการปวดเมื่อยตามข้อ เพลีย ไม่มีแรง ลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เพียงแต่โรคนี้จะเป็นๆ หายๆ ต้องใช้เวลาในการรักษานาน เสียค่าใช้จ่ายมาก
สคบ. จึงได้ทำการเฝ้าระวังโรคโดยทดสอบโรคในแพะ-แกะทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เสี่ยง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสงคราม ทั้งนี้จากการเก็บตัวอย่างกว่า 74,700 ตัวอย่าง จาก 1,500 ฟาร์ม ภายในปี 2552 พบว่า สัดส่วนการพบสัตว์ติดเชื้อในระดับฝูงอยู่ที่ 8.28% และสัดส่วนในระดับตัวสัตว์อยู่ที่ 0.9 % โดยในกรณีที่พบสัตว์เป็นโรค สคบ. จะเข้าไปควบคุมและทำลายสัตว์ที่เป็นโรคทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=186101