ฟาร์มตัวอย่างวังพญา-ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 52
ฟาร์มตัวอย่างวังพญา-ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา
นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ราษฎรหลายหมู่บ้านได้ร้องขอพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้มีงานทำอยู่ใน พื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริกับ พลเอกณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ให้จัดหาพื้นที่ตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อช่วยแก้ปัญหาการว่างงานและเพิ่มรายได้ให้ราษฎร
พลเอกณพล บุญทับ ได้รับสนองพระราชดำริและคัดเลือกพื้นที่รอยต่อระหว่างหมู่ที่ 6 บ้านจำปูน ตำบลท่าธง และหมู่ที่ 4 บ้านอูเปาะ ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นที่ตั้งโครงการและให้ชื่อโครงการว่า
โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ วังพญา-ท่าธง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยจ้างงานให้ราษฎรมีงานทำ มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว และให้ราษฎรได้เรียนรู้ทำการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง อย่างถูกหลักวิชาการ ให้ราษฎรได้ร่วมกันประกอบอาชีพในลักษณะการรวมกลุ่มทำงาน และมีมาตรการระวังป้องกันตนเองให้พ้นจากภัยคุกคามของผู้ก่อการร้าย
ฟาร์มตัวอย่างฯ แห่งนี้มีเนื้อที่ 245 ไร่ จ้างแรงงานราษฎร จำนวน 150 คน โดยให้ราษฎรในพื้นที่รอบโครงการหมุนเวียนกันมาทำงานเพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ พอเลี้ยงตนเองและครอบครัว จัดทำโครงการเลี้ยงแพะนมให้มีจำนวนเพียงพอที่จะจัดตั้งโรงงาน ผลิตน้ำนม (พาสเจอไรซ์) ออกจำหน่าย เลี้ยงแพะนมจำนวน 300 ตัว พร้อมจัดทำแปลงหญ้าอาหาร แพะให้พอเพียงกับปริมาณแพะที่เลี้ยง จัดตั้งโรงงานผลิตน้ำนมบรรจุขวด ออกจำหน่ายตลาดในท้องถิ่น และตลาดในจังหวัดใกล้เคียง
เลี้ยงเป็ดอี้เหลียง 400 ตัว และจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนการทำฟาร์มตัวอย่างทั้งด้านการเกษตร, ปศุสัตว์ และการประมง จัดวางระบบการป้องกันภัยพื้นที่โครงการฯ เพื่อให้ราษฎรที่ปฏิบัติงานอยู่ ในพื้นที่ได้รับความปลอดภัยอย่างสูงสุด โดยโครงการฯ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
นอกจากนี้ภายในพื้นที่โครงการยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่างด้วยกัน อาทิ ด้านการประมง มีการเลี้ยงปลาทับทิม ปลานิลดำ ปลากดเหลือง ปลาจะละเม็ด ปลาตะเพียนขาว ปลาบ้า ปลาดุก ปลาสวาย ปลาไน พร้อมทั้งสร้างอาคารแปรรูปด้านการประมง จำนวน 1 หลัง อาคารโรงเพาะฟักลูกปลา จำนวน 1 หลัง อาคารเก็บพัสดุประมง 1 หลัง กิจกรรมด้านการเพาะเห็ด ก่อสร้างโรงเพาะเห็ด จำนวน 5 โรง โรงผลิตก้อนเชื้อเห็ด จำนวน 1 โรง มีโรงปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ 2 โรง ผลิตปุ๋ยหมัก ผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่ง พด.2 และ พด.1 พร้อมปลูกหญ้าแฝกตามขอบสระ และแปลงเกษตรปลูกพืชผักพืชไร่ในพื้นที่ 27 ไร่ ประกอบด้วย ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง พริกขี้หนู พริกหยวก พริกหนุ่ม แตงกวา ถั่วฝักยาว บรอก โคลี แตงโม ข้าวโพดหวาน ผักหวาน มะเขือเทศ แตงร้าน แตงไทย มะเขือยาว เป็นต้น
“จากการดำเนินงานของฟาร์มตัว อย่างในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลให้ราษฎรในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงมีอาหารเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียง ไม่ต้องพึ่งพิงจากแหล่งเพาะปลูกและแหล่งขายในท้องตลาดทั่วไปเช่นที่ผ่านมา” นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการ กปร. กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=348&contentID=30469
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า