เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 52
เริ่มแล้วการ "ประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชีย" (Asian Seed Congress 2009) ภายใต้แนวคิด “เมล็ดพันธุ์เพื่ออาหารโลก” (Seed For Global Food) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ที่มีขึ้นะะหว่างวันที่ 2-12 พฤศจิกายน 2552
และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายน งานนี้จัดโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย
งานนี้มีประเทศที่แจ้งเข้าร่วมประชุม 48 ประเทศ จากที่ตั้งเป้าไว้ 50 ประเทศ มีจำนวนผู้เข้าประชุมล้วนเป็นบุคคลผู้มีบทบาทในการพัฒนาวิชาการ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ไม่เฉพาะจากภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แต่มาจากทั่วโลก ราว 1,000 คน คาดว่ามีเงินสะพัดจากการเจรจาการค้ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานในครั้งนี้ หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งหวังว่าจะเป็นเวทีในการที่จะชูบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลาง (ฮับ) เมล็ดพืชของภูมิภาคเขตร้อน และจะได้ขยับตัวเป็นศูนย์กลางด้านผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในภาคพื้นเอเชีย จากปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 3 รองจากจีน และญี่ปุ่น
ดูเหมือนว่า สอดคล้องกับนโยบายของการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ นายธีระ วงศ์สมุทร ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศ 3 ยุทธศาสตร์และนโยบายทางด้านเมล็ดพันธุ์ คือ ยุทธศาสตร์แรกคือให้มีเมล็ดพันธุ์ดีและเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ โดยสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยพืชพันธุ์ดี ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้มีการวิจัยพืชพันธุ์ใหม่ให้เกษตรกรได้นำไปใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตและให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอกับความต้องการด้านอาหารและวัตถุดิบสำหรับ ด้านอุตสาหกรรม
ยุทธศาสตร์ที่สอง สนับสนุนและให้ความสำคัญภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกรมีศักยภาพผลิตพืชพันธุ์ดี เช่น เมล็ดพันธุ์พืชลูกผสม ภาครัฐจะลดบทบาทการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชที่ภาคเอกชนมีศักยภาพในการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมภาครัฐผลิตประมาณ 10% ของความต้องการใช้ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรรายย่อยที่มีเงินทุนน้อย แต่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมของกลุ่มเกษตรกรเอง และยุทธศาสตร์สุดท้าย สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในภาคพื้นเอเชีย โดยเปลี่ยนวิธีคิดจากการรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์มาเป็นมุ่งเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ หรือเป็นเจ้าของสายพันธุ์ภายใต้แบรนด์เนมของไทยเอง
"การประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน นี้จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่ประเทศไทยจะแสดงบทบาทโดดเด่นบนเวทีโลกในฐานะเป็นศูนย์การฮับเมล็ดพันธุ์ และครัวโลกที่มีคุณภาพ เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศที่หลาก หลายเหมาะแก่การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ส่งผลให้ประเทศที่มีมูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์พืชไร่ทั้งภายในประเทศและส่งออก ติด 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย" นายธีระกล่าว
ดร.เกรียงศักดิ์ สุวรรณธราดล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการเกษตรรที่ยั่งยืนและกลุ่มคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ กล่าวว่า การประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เป้าหมายหลักคือการดำเนินงานในระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะส่งออกเมล็ดพันธุ์ได้เกินกว่า 3,000 ล้านบาทในปี 2554 คาดว่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ในปี 2559 น่าจะไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และเพิ่มพืชเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์อีก 2 ชนิดคือ มะระ และฟักทอง
ด้าน นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์พืชโดยศรวมอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท โดยมีพื้นฐานมาจากพืชไร่ที่สำคัญ เช่น ข้าวโพดไร่ ทานตะวัน และข้าวฟ่าง ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่สำคัญ 5 อันดับ ได้แก่ พืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงกวา พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลีและกะหล่ำดอก และข้าวโพดหวาน ส่วนความคืบหน้าของไทยในการเพิ่มบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ของตนเองเพื่อการส่งออกของเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชผัก ตามนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้เอกชนเข้ามาทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืช เศรษฐกิจที่สำคัญน่าจะเป็นไปได้ เพราะไทยมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศอำนวยอยู่แล้ว
"ปัญหาในส่งออกของเมล็ดพันธุ์อยู่ที่กฎระเบียบบางประการ เช่น การประเมินความเสี่ยงของศัตรูพืชที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ปัญหาโรคพืช อาทิ โรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้ โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส โรคราสนิม โรคต้นละฝักเน่าจากเชื้อรา ล้วนแต่ปัญหาที่ของผู้ประกอบการค้าปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ และเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งออกทั้งสิ้น" นายพาโชคกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำลังเร่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชซึ่งเน้นพืชสวนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท การที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในภาคพื้นเอเชียนั้น มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ง่าย แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะต้องพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยพัฒนา เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า ไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้พอสมควร นอกจากนี้ต้องพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ควบคู่กับการพัฒนาสายพันธุ์พืชด้วย
"สิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามคือด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมและการตัดแต่งพันธุวิศวกรรม หรือจีเอ็มโอ แม้บ้านเราอาจไม่มีความจำเป็นด้านเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ แต่สมมติว่าอนาคต ถ้าทั่วโลกยอมรับพืชจีเอ็มโอขึ้นมา เราจะขายเมล็ดพันธุ์ลำบาก สุดท้ายทั้งที่เราจะเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช กลายเป็นผู้ซื้อ เพราะอย่าลืมว่าจีนซึ่งเป็นเจ้าของเอเชียในด้านการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์ พืชมีความพร้อมในทุกด้าน คงไม่ปล่อยให้ไทยเป็นเจ้าแห่งการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในภาคพื้นเอเชียแน่นอน" รศ.ดร.พีรเดชกล่าว
หากประเมินในรอบด้านกันแล้ว การที่ประเทศไทยเดินหน้าและพยายามผลักดันศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชในภาคพื้นเอเชียนั้น หากมัวแต่จะอาศัยเพียงพื้นที่ปลูกมีจำนวนมาก สภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเอื้ออำนวยมาเป็นเกณฑ์หลัก ทั้งที่บุคลากรยังขาดแคลน มีการคัดค้านเทคโนโลยี สุดท้ายคงได้แต่เพียงฝันกลางวันเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552
http://www.komchadluek.net/detail/20091109/36344/%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%