เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 52
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการพัฒนาพันธุ์ข้าว Jazzman ของสหรัฐอเมริกาว่า จากการที่ศูนย์ค้นคว้าเกษตรกรรม มหาวิทยาลัยหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่และจดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า Jazzman ซึ่งคล้ายคลึงกับชื่อภาษาอังกฤษของข้าวหอมมะลิของประเทศไทย คือ Jusmine อันอาจสร้างความสับสนให้กับประเทศผู้ซื้อข้าวหอมมะลิและผู้บริโภคข้าวนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมการค้าต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานต่างๆ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชาวนาไทยและการค้าข้าวของไทย จึงมีการวางแนวทางได้แก่ การพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิไทยให้ครบวงจร ครอบคลุมทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภคและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อลดประเด็นการปลอมปนและการกล่าวอ้างว่าข้าวพันธุ์ Jazzman หรืออื่นๆ เป็นข้าวหอมมะลิไทย 100% นอกจากนั้นยังต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ และการปรับปรุงพันธุ์แบบปกติ เพื่อเสริมความทนทานโรค แมลง เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และมีคุณค่าทางโภชนาการพิเศษ
ขณะเดียวกัน ต้องมีการสนับสนุนการวิจัยข้าวหอม ทั้งด้านงบประมาณ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากร เนื่องจากเราไม่สามารถจะหยุดยั้งการวิจัยของประเทศอื่นที่ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้ากว่าเราได้ จากอดีตที่ผ่านมาที่ข้าวหอมยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในตลาดโลกเพราะพันธุกรรมที่ดี ไม่มีใครเหมือน แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ประเทศคู่แข่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพทัดเทียมได้ ในขณะที่การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมของไทยกลับไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากขาดเครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญในการวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่นา
ส่วนด้านการตลาด อาจต้องจัดกลุ่มข้าวหอมเพิ่มเติมอีกนอกเหนือจากพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข15 เพราะยังมีพันธุ์ข้าวหอมที่พัฒนามาจากพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งมีพื้นฐานพันธุกรรมใกล้เคียงกันมาก คุณภาพเมล็ดเหมือนกัน จึงน่าจะจัดเข้าในกลุ่มข้าวหอมเดิมเพื่อเพิ่มความหลากหลายหรือขยายฐานพันธุกรรม ลดความเสี่ยงจากการทำลายของโรคแมลงและสภาพแวดล้อมแปรปรวนได้ รวมถึงควรทำให้มีการยอมรับข้าวหอมที่ปลูกนอกเขตข้าวหอมมะลิ หรือพัฒนาสินค้าข้าวหอมจังหวัดให้มีคุณภาพเป็นสินค้าบ่งชี้ภูมิศาสตร์ (GI) เช่น อาจเป็นข้าวหอมมะลินครสวรรค์ ข้าวหอมมะลิสระแก้ว ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=186429