เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 52
นายโอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดูแลไม้ผลในแต่ละช่วงฤดูจึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต โดยเฉพาะในระยะนี้ที่ประเทศไทยอากาศเริ่มเย็นลง ประกอบกับฝนเริ่มทิ้งช่วง ทำให้พื้นดินระดับหน้าดินเริ่มแห้งอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการออกดอกติดผล และการเกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืช โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำและวิธีปฏิบัติดูแลไม้ผลในช่วงฤดูหนาว ดังนี้
สำหรับไม้ผลที่มีระบบรากตื้น เกษตรกรต้องให้น้ำตามความเหมาะสม ยกเว้นไม้ผลขนาดใหญ่ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ งดให้น้ำ เนื่องจากจะมีการแตกใบอ่อนและไม่ออกดอกในฤดูกาลนั้น คลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น ทำแนวกันไฟป่า ซึ่งอาจเกิดในช่วงนี้และเก็บเศษวัสดุและหญ้าแห้งออกจากแปลง ติดตั้งหัวพ่นน้ำสำหรับให้น้ำในช่วงกลางคืน เพื่อป้องกันภัยจากน้ำค้างแข็ง และลดการเกิดน้ำค้างที่อาจส่งผลกระทบต่อพืชจำพวกสตรอบอรี่ กล้วย ส้มเขียวหวาน ที่นิยมปลูกกันในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้สภาพอากาศที่หนาวเย็นยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการออกดอกติดผล ถ้ามีการเตรียมพร้อมที่ดี ผลไม้เมืองร้อนและกึ่งเมืองร้อนจะออกดอกติดผลได้ดีและมีปริมาณมาก ฉะนั้น เกษตรกรต้องหมั่นดูแลสวนไม้ผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากมีอุณหภูมิหนาวเย็นมากๆ แต่ไม่เกิดน้ำค้าง ดอกจะพัฒนาเป็นเพศผู้ โอกาสติดผลจะน้อย และในกรณีที่อากาศหนาวจัดจนเกิดน้ำค้างแข็งช่อดอกจะแห้งไหม้หรือผสมติดยาก ซึ่งโดยทั่วไปอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเข้าสู่ระยะพักตัวและเตรียมตัวออกดอก อยู่ระหว่าง 15 -20 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่หนาวเย็นนอกจากจะสร้างปัญหาในเรื่องผลผลิตแล้ว การเกิดการแพร่ระบาดของศัตรูพืชก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าศัตรูพืชส่วนมากจะเข้าสู่ระยะพักตัว แต่เพลี้ยและแมลงปากดูดเป็นกลุ่มศัตรูพืชที่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น แมลงกะอ้า ซึ่งจะเข้าทำลายช่อมะม่วง นอกจากนี้ยังมีโรคราน้ำค้าง ที่เข้าทำลายใบและช่อผลมะม่วง และราแป้งเข้าทำลายช่อดอก ผลไม้ที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ องุ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 13 พฤศจิกายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=187017