'มวนเพชฌฆาต' คุมหนอนดาวเรือง
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 52
'มวนเพชฌฆาต' คุมหนอนดาวเรือง
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านศิลา ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ยึดอาชีพร้อยพวงมาลัยดอกไม้สด และปลูกดอกไม้ขาย เป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ซึ่งปัจจุบันที่นี่ถือเป็นแหล่งขายส่ง และขายปลีกพวงมาลัยดอกไม้สด แหล่งใหญ่ของจังหวัดขอนแก่น และอำเภอใกล้เคียง ตลอดทั้งปีชาวบ้านจะมีรายได้จากการเก็บดอกไม้ขายและร้อยพวงมาลัยขายส่งให้พ่อค้าคนกลาง
แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกดอกไม้ ก็คือ ปัญหาหนอน และแมลงระบาดในแปลงไม้ดอก ทำให้ผลผลิตเสียหายและไม่มีคุณภาพ
จากปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.ทัศนีย์ แจ่มจรรยา นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ ศูนย์ไบโอ (BIO) และ นางสาวยุวรัตน์ บุญเกษม ผู้ช่วยนักวิจัย ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้มวนเพชฌฆาตเพื่อควบคุมหนอนกินดอกดาวเรือง เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร ลดต้นทุนในการกำจัดและควบคุมศัตรูพืช นอกเหนือจากการใช้สารเคมี
ผศ.ดร.ทัศนีย์ แจ่มจรรยา เผยว่า “มวนเพชฌฆาต” เป็นแมลงตัวห้ำ ที่มีประโยชน์ในการช่วยกำจัดหนอนของแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนกระทู้หอม หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม และหนอนบุ้งต่าง ๆ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของมวนจะเข้าทำลายเหยื่อ โดยการใช้ปากที่เป็นแท่งยาวแหลมคม เจาะเข้าไปทำให้หนอนเป็นอัมพาต ขยับตัวไม่ได้จากนั้นจะดูดกินของเหลวภายในตัวหนอนจนตัวแห้งเหี่ยวตาย มวนตัวห้ำชนิดนี้จะดูดกินหนอนเป็นอาหารเท่านั้น ซึ่งจะไม่ทำลายพืช จึงเป็นแมลงธรรมชาติ ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช โดยชีววิธีในแปลงไม้ดอก เช่น ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ กล้วยไม้ แปลงผักตระกูลกะหล่ำ ข้าวโพด และแปลงปลูกต้นสัก
สำหรับวงจรชีวิตของมวนเพชฌฆาต จะมีอยู่ 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อนและระยะตัวเต็มวัย ซึ่งสามารถนำมวนเพชฌฆาต ตั้งแต่วัยที่ 2 ถึงตัวเต็มวัย ไปปล่อยในแปลงเกษตรดังกล่าวได้ในอัตรา 500 ตัวต่อไร่ การเพาะเลี้ยงมวนเพชฌฆาต สามารถทำได้โดยเพาะเลี้ยงในกล่องพลาสติก ใส่จิ้งหรีดลาย และสำลีชุบน้ำเป็นอาหาร พร้อมทั้งใส่กิ่งไม้สด หรือกระดาษที่ขยำเป็นก้อนเพื่อให้มวนเพชฌฆาตเกาะและหลบซ่อนตัว เปลี่ยนอาหารสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ต้นทุนในการเลี้ยงมวนเพชฌฆาตจำนวน 200 ตัว ด้วยจิ้งหรีดลาย เป็นเวลา 2 เดือน เท่ากับ 130 บาท
ทีมนักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบต้นทุน ระหว่างการใช้สารเคมี และการใช้มวนเพชฌฆาตกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายในแปลงดอกดาวเรืองของเกษตรกรจำนวน 5 รายพบว่า ความเสียหายของดอกดาวเรืองลดลงร้อยละ 23.04 เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ใช้สารเคมี สามารถลดต้นทุนจากการใช้สารเคมี 2,000-7,375 บาทต่อไร่ และสามารถเก็บผลผลิตขายได้กำไร 8,000- 51,375 บาทต่อไร่
หากเกษตรกรสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ม.ขอนแก่น ตู้ป.ณ. 181 อำเภอเมือง จ.ขอนแก่น 40002 โทร. 0-4334-3055, 0-4320-2823 หรือ ที่เว็บบอร์ดสายตรงนักวิจัย
www.kku.ac.th/rs
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=32119
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า