หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง รวบรวมไว้ได้กว่า 600 สายพันธุ์
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 52
โครงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง รวบรวมไว้ได้กว่า 600 สายพันธุ์
เมื่อชาวนาหันมาปลูกข้าวที่ผู้บริโภคต้องการ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เคยปลูกกันแต่ก่อนเก่า ที่ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนนั้น ก็แทบจะไม่มีให้เห็น เพราะไม่รู้ว่าจะปลูกไปทำไมในเมื่อไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ปลูกไปก็ขายไม่ออกก็เลยไม่รู้ว่าจะปลูกไปทำไม จริงไหม แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ยังมีผู้เห็นความสำคัญของข้าวพื้นเมือง มีโครงการอนุรักษ์ไว้เพื่อมิให้สูญหายไป
ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มข.จัดทำ โครงการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ขึ้น 2 โครงการคือ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง และ โครงการคัดเลือกพันธุ์ข้าวในที่ดอนสำหรับระบบปลูกอ้อย-ข้าวไร่ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวและเมื่อได้มีการปลูกข้าวติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ก็มีการวิวัฒนาการมาเป็นข้าวหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้ง ข้าวไร่ ข้าวนาสวนและข้าวขึ้นน้ำ
จากสภาพการปลูกข้าวในปัจจุบัน เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ได้ละทิ้งข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเคยปลูกกันมาหลายชั่วอายุคน หันมาปลูกข้าวนาปีโดยใช้พันธุ์ข้าวอยู่เพียงไม่กี่พันธุ์ อาทิ ขาวดอกมะลิ 105 กข 15 และ กข 6 ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์ดังกล่าวล้วนมีฐานทางพันธุกรรม มาจากพันธุ์เดียวกัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายจากโรคและแมลงศัตรู ทำให้มีการใช้สารเคมีในการผลิตมากขึ้น ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวก็เริ่มลดลง จึงได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมืองขึ้นมา โดยการเก็บรวบรวมข้าวไร่และข้าวนาสวนพันธุ์พื้นเมืองจากแหล่งปลูกของเกษตรกรตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคกลางเพียงบางส่วน สามารถเก็บรวบรวมเชื้อพันธุกรรมข้าวทั้งข้าวไร่และข้าวนาสวน ได้มากกว่า 600 พันธุ์ นำข้าวไร่มาปลูกขยายพันธุ์ในแปลงทดลองหมวดพืชไร่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่วนข้าวนาสวนได้ปลูกในแปลงทด ลองที่บ้านอัมพวัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในสภาพท้องที่ต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลการปรับตัวและความเหมาะสมกับท้องที่ รวมทั้งทดสอบคุณสมบัติพิเศษของพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ จัดเก็บรวบรวม บันทึกข้อมูลลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะทางพันธุกรรมของข้าวแต่ละพันธุ์ สกัดดีเอ็นเอ ศึกษาลายพิมพ์ดีเอ็นเอ จัดทำเอกลักษณ์ของพันธุ์ สร้างธนาคารเชื้อพันธุกรรมเพื่อการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมข้าวของไทย และศึกษาการใช้ประโยชน์จากข้าวพื้นเมืองแต่ละพันธุ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน เช่น ความหอม ความนุ่ม คุณค่าทางเภสัช คุณค่าทางโภชนาการ เพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการใช้พันธุ์และงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ต่อไปใน อนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=32507
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า