เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 52
นายฉลอง เทพวิทักษ์กิจ รองอธิบดีและโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตน้ำจืดทำให้พื้นที่ข้างเคียงมีปริมาณเกลือสูงขึ้น เกิดการแพร่กระจายของดินเค็ม ทำให้เกิดน้ำเค็ม ระบบนิเวศน์เกิดความเสียหาย ป่าชายเลนเสื่อมโทรม นากุ้งถูกทิ้งร้าง และเกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้เข้าไปดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ในภาคกลาง ได้แก่ จ.นครนายก นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี และภาคใต้ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง
โดยการเข้าไปสำรวจความต้องการของเกษตรกร ในการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากนากุ้ง มาเป็นการปลูกพืชอื่นแทน แล้วทำการสำรวจจัดทำแผนที่ออกแบบต้นร่างโครงสร้างใหม่ ที่จะทำการฟื้นฟูให้สอดคล้องกับศักยภาพของที่ดิน และความต้องการของเกษตรกร โดยทำการยกร่อง เพื่อปลูกไม้ผล พืชไร่ พืชผัก หรือจัดทำแปลงนาเพื่อการปลูกข้าว รวมทั้งขุดบ่อน้ำ เพื่อสำรองน้ำหรือเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตามแนวทฤษฏีใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขความเค็มของดิน ปรับโครงสร้างทางกายภาพของดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และปลูกหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดินรอบขอบบ่อ
"ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 9,808 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 873 ราย สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 กรมฯ จะดำเนินการเพิ่มอีก 1,400 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถผลิตพืชเศรษฐกิจได้" นายฉลอง กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 พฤศจิกายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=187730