เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 52
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้สัตว์ปีกที่ปล่อยให้หากินตามธรรมชาติเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันลด และง่ายต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกที่อาจมาพร้อมกับนกอพยพและนกธรรมชาติ จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกร่วมกันเฝ้าระวังโรคด้วยการสร้างโรงเรือนที่สามารถป้องกันแดด ฝน ลมและพาหะนำโรคต่างๆ
"ปัจจุบันในประเทศไทยมีเป็ดไล่ทุ่งประมาณ 3,000 ฝูง หรือราว 8 - 10 ล้านตัว ซึ่งระบบการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งของเกษตรกรไทยยังมีความเสี่ยงเนื่องจากเลี้ยงปะปนกับนกในทุ่งนา ซึ่งจากประวัติที่ผ่านมากรมปศุสัตว์เคยพบไข้หวัดนกในนกอพยพ อีกประการหนึ่งคือเป็ดไล่ทุ่งมักไม่แสดงอาการเมื่อติดเชื้อจึงเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้ออย่างรวดเร็ว ดังนั้นนอกจากการสร้างโรงเรือนแล้ว เกษตรกรควรเลี้ยงเป็ดให้ห่างจากถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพและนกธรรมชาติ และควรหาวัสดุปูรองพื้นที่นอนให้เป็ดเพื่อเพิ่มความอบอุ่นและป้องกันลมหนาว"
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กำชับต่อไปว่า หากเกษตรกรพบสัตว์ของตนป่วยตายผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ อบต.ทันที และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อโรค ที่สำคัญไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกไปในที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายขอให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอเพื่อตรวจสุขภาพสัตว์ และขออนุญาตเคลื่อนย้ายตามกฎหมายก่อน ซึ่งทางกรมปศุสัตว์เองก็จะทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมิให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกตามจังหวัดที่มีอาเขตติดต่อกับเพื่อนบ้านด้วยอีกทางหนึ่ง
"สัตว์ปีกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ ไก่พื้นเมือง จึงขอให้เกษตรกรจัดทำเล้าที่มีการล้อมบริเวณที่นอนด้วยตาข่ายหรือมุ้งเขียว ที่สามารถป้องกันนกธรรมชาติ ลมและฝนได้ สำหรับไก่ชนขอให้ผู้เลี้ยงไม่นำไก่ที่นำไปชนหรือไก่ที่หามาใหม่เข้ามาเลี้ยงร่วมกับฝูงไก่ที่เลี้ยงอยู่เดิม ขอให้เลี้ยงไว้ในสุ่มไก่หรือเล้าไก่ที่แยกห่างจากไก่ตัวอื่นเป็นเวลาอย่าง น้อย 7 วัน" นายปรีชา กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=188573