สร้างภูมิป้องกันลูกหมูท้องร่วงช่วงหนาว
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 52
สร้างภูมิป้องกันลูกหมูท้องร่วงช่วงหนาว
โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร หรือที่เรียกโดยย่อว่า พีอีดี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส มีการระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูหนาว โดยพบอุบัติการณ์ของโรคแพร่กระจายทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียอย่างไต้หวัน จีน และประเทศไทย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ทนต่อสภาพอากาศร้อนทำให้เกษตรกรละเลยไม่ป้องกัน โดยเฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่ที่เคยมีการระบาดของโรคและขาดความต่อเนื่องในการสร้างภูมิคุ้มกันระดับฟาร์ม จะมีเปอร์เซ็นต์ สูงที่เชื้อไวรัสยังมีโอกาสหมุนเวียนสร้างการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อเนื่องในฝูง ซึ่งโรคพีอีดีสามารถเกิดได้กับสุกรทุกช่วงอายุแต่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากเกิดกับลูกสุกรที่เพิ่งหย่านม ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศให้ระมัดระวังความเสียหายจากโรคนี้
นายทฤษฎี ชาวสวนเจริญ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สุกรเป็นโรคพีอีดีได้โดยการกินเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนเข้าไป ไวรัสจะเข้าไปทำลายเยื่อบุลำไส้ในลำไส้เล็ก เป็นผลให้พื้นผิวของการ ดูดซึมสารอาหารน้อยลง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียของเหลวและมีอาการขาดน้ำ ทำให้ลูกสุกรทรุดโทรมถึงตายได้ โรคพีอีดี ที่เกิดมี 2 ชนิด คือ PED type 1 ชนิดที่สร้างความเสียหายและกระทบเฉพาะสุกรหลังหย่านม โดยมีอัตราป่วยประมาณ 30% และอัตราตายประมาณ 10% กับ PED type 2 คือ ชนิดที่สร้างความเสียหายและมีผลกระทบกับสุกรทุกช่วงอายุรวมทั้งสุกรดูดนมและ แม่สุกรด้วย และมีอัตราป่วยเกือบ 100% และอัตราตายในลูกสุกรดูดนมอาจ ถึง 100% ส่วนสุกรใหญ่ไม่พบมีการตาย
“หากเกษตรกรสังเกตเห็นลูกสุกรในฟาร์มอาเจียนเป็นนมที่แข็งตัวหรือถ่าย เป็นน้ำสีเหลืองแกมเขียวพร้อมกันหลายตัวให้นำลูกสุกรป่วย 2-3 ตัวหรืออุจจาระของลูกสุกรป่วยจำนวน 3-4 ตัวอย่าง (แช่น้ำแข็ง) ส่งตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อยืนยันโดยเร็วที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภาค หรือคณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ หากพบว่าเป็นการระบาดของโรคพีอีดี ต้องพยายามลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในเล้าคลอดด้วยการให้การรักษาตามอาการ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แม่สุกรอุ้มท้องทั้งหมดโดยการนำชิ้นเนื้อจากลำไส้เล็กจากสุกรอายุต่ำกว่า 1 สัปดาห์ที่ป่วยมาผสมกับน้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีน ผสมในอาหารแม่อุ้มท้องให้กินพร้อมกันทั้งฟาร์ม 1-2 วันติดต่อกันเพื่อให้เกิดการติดเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกัน แม่สุกรที่ท้องเสียจะกลับเป็นปกติภายใน 2-3 วัน สำหรับสุกรใหญ่ที่เป็นโรคจะกลับเป็นปกติใน 1 สัปดาห์โดยไม่ต้องทำการรักษาถ้าไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามการสร้างภูมิคุ้มกันโดยวิธีนี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด” นายทฤษฎีกล่าว
สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคพีอีดี ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเป็นโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส แต่เกษตรกรสามารถลดความเสี่ยงได้โดยเน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
พ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีการจับหมูขาย โดยเฉพาะที่โรงเรือนเล้าจับขายจะเป็นแหล่งง่ายสุดที่เชื้อโรคจะเข้าฟาร์ม รถจับหมูต้องได้รับการล้างและฆ่าเชื้ออย่างดีก่อนเข้าบริเวณฟาร์ม เข้มงวดเรื่องคนงานในเล้าคลอดห้ามปะปนกับส่วนอื่น และเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน และให้สารเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคท้องเสียกับลูกสุกรแรกเกิดทุกตัว
หากปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่รู้จริง เชื่อแน่ว่าผลดีย่อมตามมาอย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=33609
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า