สติกเกอร์วัดความสดอาหาร รองรับระเบียบบรรจุภัณฑ์
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 52
สติกเกอร์วัดความสดอาหาร รองรับระเบียบบรรจุภัณฑ์
คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ภานุวัฒน์ สรรพกุล นางสาวอัจฉรียา นพวิญญูวงศ์ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ และ ผศ.ดร.สุดสาย ตรีวานิช ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ พัฒนา
ฉลากบอกความสดใหม่ของอาหารที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าไร้สารพิษและบ่งชี้ความสดใหม่ของอาหารได้ดีกว่าวันหมดอายุ ได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2552 จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2552
“เคยู เฟรชเซ็นซ์” (KU Fresh Zense) เป็นชื่อของนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์บอกความสดใหม่ของอาหาร ซึ่งพัฒนามาจากแป้งข้าวเจ้า โดย ผศ.ดร.ภานุวัฒน์ สรรพกุล หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้สามารถบอกถึงความสดใหม่ของอาหารในบรรจุภัณฑ์ได้ดีกว่าฉลาก บอกวันหมดอายุทั่วไป ง่ายดายต่อความเข้าใจและการใช้งานสำหรับผู้บริโภค ให้ความแม่นยำ มีต้นทุนในการผลิตต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะทำจากแป้งข้าวเจ้าสามารถย่อยสลายได้ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มความซื่อสัตย์ในตราสินค้าและส่งเสริมชื่อเสียงให้แก่ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย เคยูเฟรชเซ็นซ์ อาศัยหลักการวัดปริมาณของสารเมทาบอไลท์ เพื่อทำปฏิกิริยากับสีย้อมผสม ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บ่งบอกความเป็นกรด-ด่าง โดยนำมาผสมกับแป้งข้าวเจ้า หรือที่เรียกกันว่า “สตาร์ชข้าว” แล้วนำไปขึ้นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายแผ่นฟิล์มบาง ๆ จากนั้นนำไปเคลือบบนสติกเกอร์ มีแถบเทียบสี 4 ระดับ ซึ่งระดับเทียบสีจะบอกระยะเวลาของอาหาร คือ สดใหม่, สด, เริ่มไม่สด และไม่ควรรับประทาน โดยจะทำการเคลือบด้วยฟิล์มแป้งข้าวเจ้าอีกหนึ่งชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สี ย้อมสัมผัสกับอาหารโดยตรง และเป็นชั้นดูดซับความชื้นจากผลิตภัณฑ์ซึ่งจะทำให้ผลการวัดผิดพลาดได้
ทั้งนี้นักวิจัยได้ทำการทดลองติดสติกเกอร์กับอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แผ่นฟิล์มจะสามารถวัดการเน่าเสียได้จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จุลินทรีย์ สร้างขึ้นโดยทดลองที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส พบว่าสามารถอยู่ได้นาน 25-30 วัน และทดลองที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าเก็บไว้นาน 6 วัน จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการเน่าเสีย โดยบรรจุภัณฑ์ติดสติกเกอร์จากแป้งข้าวเจ้า สามารถบอกความแม่นยำได้เกือบ 100% เมื่อเทียบกับการทดสอบหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในห้องปฏิบัติการ
สำหรับการผลิตสติกเกอร์ฉลากบอกความสดใหม่นี้ มีต้นทุนการผลิตต่ำในเชิงพาณิชย์ แต่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวเจ้าได้ โดยแป้งข้าวเจ้า 1 กิโลกรัม สามารถผลิตสติกเกอร์ได้ประมาณ 50,000 ชิ้น ราคาประมาณชิ้นละ 50 สตางค์ ใช้งานง่าย และยังสามารถนำไปใช้งานได้กับผลิตภัณฑ์อาหารทุกประเภท
ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการความปลอดภัยของอาหารและการรับประกันคุณภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น หากภาครัฐ หรือฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคต้องการปกป้องผู้บริโภค โดยการบังคับใช้ฉลากบอกความสดใหม่ในอาหารประเภทต่าง ๆ เพื่อรองรับกฎระเบียบบรรจุภัณฑ์ในอนาคต ผู้บริโภคจะลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคทางเดินอาหารต่าง ๆ ลดการใช้ยาและการรักษา สำหรับภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารประเภทต่าง ๆ หากใช้ฉลากบอกความสดใหม่ก็จะเพิ่มความมั่นใจให้กับการตัดสินใจเลือกใช้และเลือกบริโภคสินค้า ซึ่งจะเป็นการการันตีคุณภาพสินค้าชนิดนั้นด้วย ที่สำคัญหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของอาหารควรหันมาส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมฉลากบอกความสดใหม่ของอาหารเสียตั้งแต่วันนี้
ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยอาจต้องเสียดุลทางการค้านำเข้าฉลากสินค้าจากต่างประเทศอย่างแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=33613
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า