'เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก' นวัตกรรมเกษตรเพื่อชุมชน
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 52
'เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก' นวัตกรรมเกษตรเพื่อชุมชน
เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก นวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจจากมันสมองและความสามารถของนักศึกษา รวมทั้งคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เป็นเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในครัวเรือนหรือในชุมชน เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถสีข้าวสำหรับรับประทานได้เองภายในครอบครัว หรือในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังได้ปริมาณข้าวสารมากกว่าการสีข้าวจากโรงสีทั่วไป
ผศ.ประเสริฐ วิโรจน์ชีวัน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร ในฐานะเจ้าของผลงาน เล่าว่า นวัตกรรมชิ้นนี้ ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องสีข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะพบเห็นอยู่ในโรงสีข้าว หลังจากศึกษาและรวบรวมข้อมูลการปลูกข้าวของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไทย พบว่าเกษตรกรปลูกข้าวเพื่อเก็บไว้รับประทานกันเองภายในครอบครัว หากเหลือจากการรับประทานแล้วจึงจะนำไปขาย โดยเกษตรกรจะนำข้าวไปสีกับโรงสีข้าวในชุมชนขนาดใหญ่อย่างเช่น ในตัวเมือง หรือที่ว่าการอำเภอ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน แถมยังได้ปริมาณเม็ดข้าวสารหักมากกว่าเม็ดข้าวสารเต็มเมล็ด
“นั่นเป็นโจทย์ที่ต้องนำไปพัฒนาต่อยอด แล้วนำมาปรับใช้ให้เป็นรูปธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในชุมชนมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้ประโยชน์ ผมจึงไม่รอช้าที่จะสนองความต้องการดังกล่าว โดยได้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ พร้อมทั้งออกแบบและสร้างเครื่องสีข้าวขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการนำเอาชุดกะเทาะเปลือกข้าว ชุดแยกแกลบ และชุดขัดสีข้าวมารวมเข้าไว้ภายในเครื่องเดียว ทำให้สามารถสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารขาวได้ อีกทั้งยังสามารถแยกแกลบ รำหยาบ รำละเอียด และปลายข้าวได้ด้วย” เจ้าของนวัตกรรมเล่าอย่างภูมิใจ
ผศ.ประเสริฐ บอกวิธีการสร้างเครื่องสีข้าวขนาดเล็กให้ฟังว่า ส่วนประกอบที่สำคัญคือ มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับขนาด 2 แรงม้า ใช้กำลังไฟฟ้า 220 โวลต์เป็นตัวต้นกำลัง เพื่อขับชุดหินขัด พัดลมดูดแกลบ และชุดแยกข้าว โดยมีลูกบิดที่ใช้ในการปรับแต่งชุดขัดข้าว ผลจากการทดลองสีข้าวหอมปทุม จำนวน 5 กิโลกรัม พบว่าใช้เวลาในการสีข้าว 8.12 นาที ได้เมล็ดข้าวสารจำนวน 2.55 กิโลกรัม รำหยาบ 0.2 กิโลกรัม รำละเอียด 0.55 กิโลกรัม ปลายข้าว 0.5 กิโลกรัม และแกลบ 1.075 กิโลกรัม จากนั้นได้หาเปอร์เซ็นต์ข้าวหักด้วยการสุ่มหยิบข้าวสารที่สีแล้ว 5 ครั้งครั้งละ 100 กรัม หาค่าเฉลี่ย พบว่าข้าวสารที่ได้จากการสี 100 กรัม ได้ข้าวสารเต็มเมล็ด 53 เปอร์เซ็นต์ และข้าวสารหัก 47 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าจะยังไม่ได้ทดลองนำเครื่องสีข้าวขนาดเล็กไปใช้กับเกษตรกรในชุมชน แต่ ผศ.ประเสริฐได้การันตีคุณภาพการใช้งานของเครื่องสีข้าวดังกล่าวว่า ด้วยความกะทัดรัดของเครื่องสีข้าวที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องสีข้าวทั่วไป 10 เท่า จึงประหยัดเนื้อที่ในการติดตั้ง ประกอบกับวิธีการใช้งานไม่สลับซับซ้อน จึงเหมาะกับการใช้งานในชุมชนอย่างยิ่ง ที่สำคัญชาวนาจะไม่เสียเปรียบพ่อค้าโรงสีข้าวที่เก็บทั้งรำและข้าวปลายไว้ทั้งหมด เพื่อเป็นค่าจ้างในการสีข้าว
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก ติดต่อสอบถามได้ที่กองประชาสัมพันธ์ มทร.พระนคร โทร. 0-2282-9009-15 ต่อ 6021-6023 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=34027
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า