จากแกระเกี่ยวข้าวสู่กะลามะพร้าว
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 52
จากแกระเกี่ยวข้าวสู่กะลามะพร้าว
สหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ จำกัด ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม เมื่อวันก่อน ปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิกสามัญ 35 กลุ่ม หนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวบ้านควนน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่ง ในจำนวน 35 กลุ่มที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เนื่องจากเดิมราษฎรบ้านควนน้อยจะมีอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำสวนยางพารา อาชีพเสริมที่ดำเนินการอยู่มีหลากหลาย ได้แก่ การทำแกระเกี่ยวข้าว การตีเหล็ก ซึ่งงานหัตถกรรมชิ้นนี้ในสมัยนั้นตลาดมีความต้องการมากเนื่องจากชาวนาทางภาคใต้ทุกจังหวัดใช้แกระเกี่ยวข้าว แต่ในระยะหลังการทำแกระเกี่ยวข้าวเริ่มมีปัญหาอุปสรรคมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ประกอบกับชาวนาหันมาใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในการเกี่ยวข้าว ดังนั้นอาชีพทำแกระเกี่ยวข้าว และอาชีพตีเหล็กจึงลดน้อยลงส่งผลให้ราษฎรในหมู่บ้านมีรายได้ลดน้อยตามไปด้วย รายได้ไม่คุ้มทุน
ปี พ.ศ. 2536 ได้มีราษฎรในหมู่บ้านบางส่วนนำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวเข้ามาทำในหมู่บ้าน และนำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวออกจำหน่ายยังต่างจังหวัดปรากฏว่าได้รับความนิยมจากตลาดและสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ลักษณะของการดำเนินงานยังกระจัดกระจายไม่มีการรวมกลุ่ม ปี พ.ศ. 2540 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.พนมวังก์ ได้เข้ามาให้คำแนะนำ โดยให้มีการรวมกลุ่มและนำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวมาขายรวมกัน ในการรวมกลุ่มครั้งแรกมีสมาชิกกลุ่ม 18 คน คณะกรรมการบริหารกลุ่ม 7 คน
จากการรวมกลุ่มส่งผลให้กลุ่มได้รับงบประมาณส่งเสริมอาชีพจากองค์การบริหารส่วนตำบลพนมวังก์ จำนวน 70,000 บาท ในปีพ.ศ. 2543 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ได้เข้ามาสำรวจข้อมูลหมู่บ้านเพื่อจัดตั้งเป็นหมู่บ้านหัตถกรรม และได้จัดทำป้ายหมู่บ้านอุตสาหกรรมพร้อมป้ายหน้าบ้านสมาชิก จำนวน 25 คน และเสนอโครงการดังกล่าวยังจังหวัดเพื่อเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ภายหลังจากได้เข้าร่วมโครงการแล้ว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ได้ให้การสนับสนุนและการฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ ด้านบรรจุภัณฑ์ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เทคนิคการผลิต ด้านการจัดการ การตลาด ซึ่งขณะนี้กลุ่มสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่า 3,500-5,000 บาทต่อคนต่อเดือน
ขณะเดียวกันทางกลุ่มฯ ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรพนมวังก์ จำกัด จึงได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสหกรณ์ในการทำการตลาด ตลอดถึงการดำเนินกิจกรรมที่มีการออมจากราย ได้ที่ได้รับจากการจำหน่ายผลผลิต ยังมาซึ่งการมีทุนในการดำเนินชีวิตที่มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=34233
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า