พลังงานจาก 'น้ำ-ลม' อีกทางเลือกเพื่อชุมชน
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 52
พลังงานจาก 'น้ำ-ลม' อีกทางเลือกเพื่อชุมชน
ด้วยสภาพพื้นที่การเกษตรใน ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย มีลักษณะเป็นเนินเขา เกษตรกรจึงมีปัญหาในเรื่องของการนำ “น้ำ” ที่อยู่ในพื้นที่ต่ำหรือในหุบเขาขึ้นมาใช้บนไร่นาในฤดูแล้ง และมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นค่าเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำ
ประกอบกับสภาพพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่สูง และมีลักษณะเป็นร่องเขาระหว่างเทือกเขาภูหลวงและภูกระดึง ทำให้มีกระแสลมพัดแรงตลอดเวลา สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงร่วมกันหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จัดทำ “โครงการพัฒนาสาธิตการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนในเขต อ.ภูหลวง จ.เลย” ขึ้นมาโดยใช้พื้นที่ของ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง” เป็นฐานเรียนรู้ด้านพลังงานทางเลือกให้กับชุมชน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
นายดิรก สาระวดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยว่า โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากการทำแผนด้านพลังงานร่วมกันของ ต.เลยวังไสย์ และมูลนิธิเลยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งพื้นที่นี้ฐานเดิมเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรแบบธรรมชาติร่วมกับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 จึงเลือกใช้พื้นที่ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงเพื่อให้เป็นแหล่งขยายความ รู้ในเรื่องของพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมโดยชุมชนมีส่วนร่วม
โดยทางโครงการฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาด้านพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืน และพลังงานทดแทนที่โดดเด่นและถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชนแห่งนี้ก็คือ เรื่องของ “กังหันลม” เพื่อผลิตไฟฟ้าและ “เครื่องตะบันน้ำ” เพื่อสูบน้ำไปใช้บนไร่นา
นายอดิศร สุนทรารักษ์ รองเลขา ธิการมูลนิธิเลยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า สิ่งที่เราอยากเห็นในพื้นที่นี้ก็คือชาวบ้านอยู่ดีมีสุขภายใต้แนวคิดเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งตนเอง โดยเราจะสนับสนุนในเรื่องของเทคโนโลยีที่เหมาะสม อย่างกังหันลมชาวบ้านสามารถ สร้างเองได้เกือบทั้งหมด ใบของกังหันก็ทำจากไม้ ยกเว้นอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องซื้อมาประกอบ แต่เรากำลังพัฒนาให้มีราคาถูกลงแต่ปัจจุบันยังมีราคาแพงโดยมีต้นทุนประมาณ 40,000 บาท แต่พลังงานที่ได้สามารถที่จะนำไปใช้กับเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งไฟส่องสว่าง อุปกรณ์สำนักงาน ส่วนเครื่องตะบันน้ำมีต้นทุนที่ถูกมากเพียง 2,000 บาทเท่านั้น
“การส่งน้ำสามารถที่จะส่งน้ำขึ้นไปบนเขาที่สูง ๆ ได้ไกลเป็นกิโลเมตร โดยสามารถสูบน้ำได้ชั่วโมงละประมาณ 200 ลิตร ซึ่งพลังงานทางเลือกทั้งสองด้านก็จะไปตอบโจทย์ในเรื่องของน้ำซึ่งเป็นปัจจัย สำคัญในการเกษตร ทำอย่างไรให้ลดต้นทุนในการนำน้ำขึ้นมาใช้ ส่วนพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เข้ามาเสริม ซึ่งถ้าเราได้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาช่วยก็น่าที่จะทำเรื่องของพลังงาน ทั้งสองชนิดได้ดีมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องของเครื่องตะบันน้ำน่าจะส่งเสริมง่ายเพราะมีต้นทุนต่ำ ง่าย ไม่ซับซ้อน นำไปใช้ได้จริง และแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในฤดูหนาวและร้อนไม่สามารถที่จะส่งน้ำขึ้นไปหล่อเลี้ยงพื้นที่บนเขาได้” รองเลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าว
นายแสวง ดาปะ กำนันตำบลเลยวังไสย์ เล่าว่า มีไร่อยู่บนภูเขาแต่มีน้ำอยู่ข้างล่างก็เลยคิดว่าทำอย่างไรจะนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยยึดหลักของในหลวงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเรามีอะไรอยู่ก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นทุน เห็นว่าที่สวนมีลมแรงเพราะอยู่บนเนินเขา ทำอย่างไรที่จะเอาลมมาเป็นประโยชน์ได้ ก็เลยคิดว่าจะทำกังหันลมมาผลิตไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำขึ้นมาใช้ ทางมูลนิธิฯ จึงพาไปดูงาน และไปเรียนรู้กับอาจารย์บรรจง ขยันกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อก่อนที่ใช้เครื่องสูบน้ำต้องใช้น้ำมันเบนซินวันละไม่ต่ำกว่า 4 ลิตร ช่วงน้ำมันแพง ๆ ก็หมดเงินไปวันละหลายร้อยบาท ซึ่งเรื่องของพลังงานทดแทนชาวบ้านเริ่มสนใจกันมากขึ้น แต่ยังติดในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่
ถ้าชุมชนหันกลับมาใช้พลังงานทางเลือกก็จะทำให้ชุมชนสามารถดำรงชีวิตหรือ ประกอบอาชีพโดยใช้พื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งถ้าชุมชนนำพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกมาใช้ก็จะสามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะชุมชนที่ห่างไกล นอกจากจะส่งผลดีกับ สิ่งแวดล้อม ชุมชนก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ด้านพลังงานและจะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและเกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=34748
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า