เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 52
นายทฤษฎี ชาวสวนเจริญ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า โรคท้องร่วงติดต่อในสุกรหรือที่เรียกโดยย่อว่า พีอีดี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส มีการระบาดอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่ที่เคยมีการระบาดของโรค ขาดความต่อเนื่องในการสร้างภูมิคุ้มกันระดับฟาร์ม จะมีเปอร์เซนต์สูงที่เชื้อไวรัสยังมีโอกาสหมุนเวียนสร้างการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยโรคพีอีดีเกิดได้กับสุกรทุกช่วงอายุ แต่จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหากเกิดกับลูกสุกรที่เพิ่งหย่านม กรมปศุสัตว์จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศให้ระมัดระวังความเสียหายจากโรคนี้
สุกรเป็นโรคพีอีดีได้โดยการกินเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนเข้าไป ไวรัสจะเข้าไปทำลายเยื่อบุลำไส้ในลำไส้เล็ก เป็นผลให้พื้นผิวของการดูดซึมสารอาหารน้อยลง ส่งผลให้เกิดการสูญเสียของเหลวและมีอาการขาดน้ำ ทำให้ลูกสุกรทรุดโทรมถึงตายได้
"หากเกษตรกรสังเกตเห็นลูกสุกรในฟาร์มอาเจียนเป็นนมที่แข็งตัวหรือถ่ายเป็นน้ำสีเหลืองแกมเขียวพร้อมกันหลายตัวให้นำลูกสุกรป่วย 2 - 3 ตัว หรืออุจจาระของลูกสุกรป่วยจำนวน 3 - 4 ตัวอย่าง (แช่น้ำแข็ง) ส่งตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อยืนยันโดยเร็ว"
สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคพีอีดี ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เนื่องจากเป็นโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส แต่เกษตรกรสามารถลดความเสี่ยงได้โดยเน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีการจับหมูขาย โดยเฉพาะที่โรงเรือนเล้าจับขายจะเป็นแหล่งง่ายสุดที่เชื้อโรคจะเข้าฟาร์ม รถจับหมูต้องได้รับการล้างและฆ่าเชื้ออย่างดีก่อนเข้าบริเวณฟาร์ม เข้มงวดเรื่องคนงานในเล้าคลอด ห้ามปะปนกับส่วนอื่นและเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน และให้สารเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคท้องเสียให้ลูกสุกรแรกเกิดทุกตัว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 1 ธันวาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=189558