ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 52
ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
"ทุ่งกุลาร้องไห้" เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิมีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งพื้นที่นั้นครอบคลุมในเขต 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ ยโสธรและร้อยเอ็ด
กรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมสนับสนุนให้สหกรณ์ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้หันมาให้ความสำคัญในการผลิตข้าวหอมมะลิให้ได้มาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) โดยได้จัดทำโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้มาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันมีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 19 แห่ง ซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวได้ทำงานร่วมมือกันเป็นเครือข่าย ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันในการที่จะยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นสินค้าเพื่อการส่งออก มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด นับเป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้มาตรฐาน สหกรณ์แห่งนี้ ได้รับการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2520 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 7,600 คน ธุรกิจหลักของสหกรณ์คือการรวบรวมข้าวเปลือก การแปรรูปข้าว การให้สินเชื่อแก่สมาชิก และการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ในปีที่ผ่านมา สหกรณ์สามารถรวบรวมข้าวเปลือก ซึ่งเป็นผลผลิตของสมาชิก จำนวนกว่า 70,000 ตัน
ต่อมา เข้าร่วมโครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อการส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2547 มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับสมาชิก ปรับเปลี่ยนกระบวนการในการผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP สมาชิกของสหกรณ์ทั้ง 7,600 คนเป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และได้สมัครเข้าร่วมโครง การผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานครบทุกรายจึงนับได้ว่าสหกรณ์แห่งนี้ มีสมาชิกที่สามารถผลิตข้าวได้มาตรฐานเต็ม 100%
นางสาวบุญล้วน อุดมพันธ์ รองผู้จัดการฝ่ายโรงสี ได้ให้ข้อมูลถึงการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวและการจำหน่ายข้าวสารของสห กรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ว่า ข้าวเปลือกที่สหกรณ์รับซื้อจากสมาชิกจะให้ราคาตามคุณภาพของข้าว แต่จะมีราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป ข้าวที่รับซื้อจากเกษตรกรจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยจะมีการใช้เครื่องมือวัดเปอร์เซ็นต์ของเนื้อข้าว ในปริมาณ 100 กรัม ถ้ามีต้นข้าวต่ำกว่า 35% สหกรณ์จะขายเป็นข้าวเปลือกให้กับพ่อค้าทั่วไป แต่ถ้าต้นข้าวสูงกว่า 35% ก็จะเก็บไว้แปรรูปเป็นข้าวสาร
ที่ผ่านมา สหกรณ์ยังไม่เคยประสบปัญหาข้าวล้นตลาด มีแต่ปัญหาเรื่องการผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ ข้าวเปลือกที่นำมาแปรรูปจะรับซื้อมาจากสมาชิกของสหกรณ์เท่านั้น เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี เนื่องจากในการเพาะปลูก เกษตรกรสมาชิกจะซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จากสหกรณ์นำไปปลูก และอยู่ในความดูแลของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด โดยสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปควบคุมการผลิตในแปลงนาของเกษตรกร พร้อม ๆ กับการให้ความรู้แก่เกษตรกรว่า การจะปลูกข้าวให้มีคุณภาพที่ดีและให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การรักษาดิน การใส่ปุ๋ย จนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งสมาชิกจะได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันสมาชิกของสหกรณ์นั้นมีการผลิตข้าวหอมมะลิโดยเข้าสู่ระบบ GAP มา 4-5 ปีแล้ว ทุกคนยอมรับในกฎระเบียบที่ทางสห กรณ์ได้วางไว้ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้จะทำนา ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ทุกคนจึงคาดหวังว่าข้าวหอมมะลิที่ตัวเองปลูกจะมีคุณภาพ สามารถให้ผลผลิตต่อไร่สูงและขายได้ในราคาที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ขณะนี้ สหกรณ์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงสีข้าวขนาด 60 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 20 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะพัฒนาโรงสีข้าวให้เข้าสู่ระบบ ISO ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=189298&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า