'ภาคตะวันออก' เขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 52
'ภาคตะวันออก' เขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ค่อนข้างสูง แต่ปัญหาเรื่องโรคปากและเท้าเปื่อยเป็นข้อกำหนดที่สำคัญในการกีดกันการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ของต่างประเทศ ทว่าการกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยให้หมดไปจากประเทศไทยจำเป็นต้องใช้กำลังคน และงบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น หากพื้นที่เขตปศุสัตว์ที่มีการผลิตสัตว์ได้มากและปลอดต่อโรคปากและเท้า เปื่อยแล้วจะเป็นหนทางสำคัญซึ่งช่วยให้ประเทศไทยสามารถขยายตัวในด้านการส่ง ออกสินค้าปศุสัตว์ได้
ซึ่งภาคตะวันออกของประเทศไทยมีผลผลิตปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกรเพียงพอสำหรับการบริโภคและเหลือส่งไปจำหน่ายนอกพื้นที่ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยน้อย จึงมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งให้ภาคตะวันออกเป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนิน 10 มาตรการ เพื่อจัดทำเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศไทยเพื่อกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยให้หมดไปจากพื้นที่ดังกล่าว และเพื่อให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ รับรองสถานภาพปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
10 มาตรการดังกล่าว เริ่มจากการ กำหนดเขตควบคุมโรคเพื่อเตรียมเป็นเขตปลอดโรค คือ พื้นที่ชั้นในของภาคตะวันออก ประกอบด้วยส่วนหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และจังหวัดระยองและชลบุรีทั้งจังหวัด กำหนดเขตกันชนที่กั้นระหว่างเขตควบคุมกับเขตปกติ ต่อมาคือการจัดทำเครื่องหมายขึ้นทะเบียนสัตว์และกำหนดพิกัดในระบบจีไอเอสให้กับสถานที่เลี้ยงสัตว์กีบคู่ทุกชนิด โรงฆ่าสัตว์กีบคู่ ตลาดนัดค้าสัตว์กีบคู่ ด่านกักกันสัตว์ จุดตรวจสัตว์ เป็นต้น จากนั้นจึงเป็นการเฝ้าระวังโรคทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) จะจัดระบบให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติงานตรวจเยี่ยมเฝ้าระวังโรค จัดตั้งศูนย์รับแจ้ง รวมไปถึงการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการโดยการจัดทำธนาคารซีรั่มเพื่อสุ่มตรวจทางซีรั่มวิทยาค้นหารอยโรค จัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างรวดเร็วที่ด่านกักกันสัตว์ตามแนวเขตรอบนอกของเขตกันชน
ที่สำคัญคือการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่นอกจากจะพัฒนาระบบการผลิตวัคซีนให้ได้มาตรฐานที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศกำหนดแล้ว จะกำหนดการฉีดวัคซีนปีละ 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนและธันวาคม จัดระบบการตรวจสอบให้สัตว์ได้รับการฉีด วัคซีนจริงโดยใช้ทั้งกฎหมายและส่งเสริมระบบการซื้อขายสัตว์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้กับสัตว์ตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทย มาตรการต่อมาคือการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ให้เป็นไปตามระเบียบ กรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องมีหลักฐานไม่พบการติดเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยโดยการตรวจซีรั่ม สำหรับมาตรการควบคุมโรค สคบ.มีมาตรฐานซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พัฒนาปรับปรุงระบบรายงานโรคและเก็บตัวอย่างให้รวดเร็ว ถูกต้อง ควบคุมรอบจุดเกิดโรคในรัศมี 5-10 กิโลเมตรอย่างเข้มงวด ทำลายสัตว์ป่วยและสัตว์ที่สัมผัสสัตว์ป่วยทั้งหมดโดยไม่มีการกักรักษาทั้งใน เขตกันชนและเขตปลอดโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในลักษณะวงแหวน พัฒนาห้องควบคุมโรคและชุดเฉพาะกิจควบคุมโรคประจำสำนักสุขศาสตร์สัตว์และ สุขอนามัยที่ 2 ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานตลอดเวลา ส่งเสริมให้สหกรณ์หรือกลุ่ม หรือชมรม หรือสมาคมมีมาตรการลงโทษ กรณีสมาชิกเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายโรค
มาตรการสุดท้ายคือการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์กีบคู่ การพัฒนาปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์รายย่อยให้ผู้เลี้ยงรายใหญ่เข้ามามีบทบาทในการดูแลช่วยเหลือ และการพัฒนาปรับปรุงผู้ประกอบการรับซื้อสัตว์และขนส่งสัตว์กีบคู่
การจัดทำเขตดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 - 2556 โดยคาดว่าภายในปี 2555 ประเทศไทยจะสามารถส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศได้ไม่น้อย กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการควบคุม ป้องกัน กำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออกของประเทศ เช่น ค่าวัคซีน ค่ารักษาพยาบาล ได้ประมาณปีละ 30 ล้านบาท.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=35064
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า