เมื่อวันที่ 29 มกราคม 52
การบริโภคอาหารให้ได้คุณค่าและรู้สึกปลอดภัยอย่างแท้จริงนั้น วัตถุดิบที่นำไปประกอบอาหารก็จะต้องสะอาดปราศจากสารปนเปื้อนด้วย เฉกดั่ง กลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครงบ้านคลองช่อง ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
โดยการนำของ ขนิษฐา เนียมประพันธ์ ที่รวมตัวกันเลี้ยงหอยแครงในบ่อดิน ส่งจำหน่ายจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เพราะนอกจากคุณสมบัติเด่นปลอดสารพิษแล้ว หอยที่เลี้ยงยังตัวใหญ่และให้คุณค่าทางอาหารสูง
ขนิษฐาเล่าว่า กลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครงบ้านคลองช่อง เป็นหนึ่งใน “โครงการอาหารทะเลปลอดภัยไร้สารพิษ” ที่สมัชชาอาหารปลอดภัย จ.สมุทรสงคราม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนการเพาะเลี้ยง เพื่อพัฒนาระบบการผลิตอาหารทะเลให้ปราศจากสารปนเปื้อน และมุ่งหวังให้ประชาชนได้บริโภคอาหารทะเลที่สด สะอาด อร่อยและปลอดภัย
"ครั้งแรกกลุ่มจะเพาะเลี้ยงหอยแครงเพื่อจำหน่ายเป็นลูกพันธุ์สำหรับไปเพาะเลี้ยงต่อ และจำหน่ายเป็นอาหารทะเลสดให้แก่พ่อค้าเพื่อไปจำหน่ายในตลาดแม่กลอง ต่อมาเมื่อมีการปรับเปลี่ยนจากเพาะเลี้ยงในทะเลอย่างเดียวมาเป็นเพาะเลี้ยงในบ่อดินริมชายทะเล แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร" ประธานกลุ่มแจง
พร้อมยอมรับว่าที่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้น เพราะปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มทำได้เพียงแค่เฝ้าระวัง และคอยตรวจตราโรงงานที่อาจปล่อยสารพิษลงสู่ทะเล เมื่อใดที่น้ำทะเลปนเปื้อนสารพิษ น้ำจะมีสีแดงและขุ่น หอยแครงที่เลี้ยงจะตายหมด ทำให้ชาวประมงขาดทุนทันทีเช่นเดียวกัน กว่าจะสามารถเพาะเลี้ยงได้ใหม่จะต้องรอให้น้ำทะเลฟื้นตัวนานกว่า 4 เดือน สมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม จึงเข้ามาแนะนำให้เพาะเลี้ยงในบ่อดินเนื่องจากสามารถหลีกเลี่ยงน้ำเสียได้
ต่อเมื่อสมัชชาโดยการนำของ อรุณ เกิดสวัสดิ์ ผจก.แผนงานอาหารปลอดภัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนในการทำบ่อดินในพื้นจำนวน 30 ไร่ และซื้อพันธุ์หอยแครงให้กลุ่ม ได้เพาะเลี้ยง
“วิธีการเพาะเลี้ยงในบ่อดิน สมัชชาได้จัดทำบ่อดินขนาด 30 ไร่ริมชายทะเล มีการกักน้ำเค็มสูง 1 เมตร และนำหอยขนาดเล็กมาเลี้ยงไว้ เปลี่ยนน้ำทุก 5-7 วัน ช่วงใดที่น้ำทะเลเสียมีสารพิษ ชาวประมงก็จะไม่เปิดให้น้ำเข้า ทำให้หอยแครงในบ่อดิน มีคุณภาพสูง ไม่มีอันตรายจากสารเคมี อีกทั้งยังโตเร็วกว่าหอยแครงที่เลี้ยงในทะเลธรรมชาติ” ขนิษฐาแจง พร้อมระบุว่าปัจจุบันกลุ่มผลิตหอยแครงปลอดสารยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ที่ปัจจุบันไม่เฉพาะในสมุทรสงคราม หรือจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น แต่ยังส่งจำหน่ายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วทุกภาคด้วย
ด้านอรุณ กล่าวเสริมว่า พร้อมกันนี้สมัชชายังช่วยประสานเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาเก็บหอยแครงไปตรวจหาสารพิษ รวมถึงตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ และช่วยเฝ้าระวังเรือที่จะลักลอบนำสารพิษมาทิ้งในทะเล ทำให้กลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครงมั่นใจได้ว่าจะมีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคก็ได้รับประทานหอยแครงที่สด สะอาด และปลอดภัย
“เรื่องอาหารปลอดภัยเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก และรับผิดชอบร่วมกัน และเมื่อมีการประกาศนโยบายให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เราก็ควรทำให้อาหารที่มีต้นกำเนิดมีคุณภาพและปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้แล้ว ยังช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ชาวบ้านได้อย่างน่าพอใจด้วย” อรุณ กล่าวสรุป
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 29 มกราคม 2552
http://www.komchadluek.net/2009/01/29/x_agi_b001_334403.php?news_id=334403