ระดมปราบเพลี้ยกระโดดฯ หวังหยุดยั้งการระบาด
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 52
ระดมปราบเพลี้ยกระโดดฯ หวังหยุดยั้งการระบาด
ในระยะเวลานี้ปัญหาที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่ชาวนาในหลายพื้นที่เป็นอย่างมาก คือ
ปัญหาของการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ที่สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่การปลูกข้าวกว่า 1 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบให้การช่วยเหลือ พบสาเหตุเกิดจากไม่ได้พักนา ใช้ยาไม่ถูกชนิดและระยะเวลาที่เหมาะสม
ล่าสุด นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมชาวนาในพื้นที่การระบาดบริเวณ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมขอความช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่การระบาด และได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่การระบาด เร่งเข้าตรวจสอบความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ในการใช้ยาพ่นกำจัดเพลี้ยกระโดดสี น้ำตาลให้ถูกต้องเหมาะสมและต้องควบคุมการระบาดให้ได้ โดยให้ดำเนินการไปพร้อม ๆ กันในพื้นที่การระบาดทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้กำชับให้กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง และให้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ชาวนาได้ทราบถึงสาเหตุของการระบาดของ
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ถูกต้อง เหมาะสม อย่างต่อเนื่องต่อไป
ทางด้าน นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลานี้ถ้าชาวนาที่ยังไม่ได้ดำเนินการปลูกข้าว ควรที่จะมีการพักนาไม่ปลูกข้าวอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และควรที่จะเปลี่ยนใช้ข้าวพันธุ์อื่นบ้าง เช่น กข. 29 กข. 31 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 90 นอกจากนี้ในการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ควรหว่านเกิน 20 กิโลกรัมต่อไร่ และสิ่งสำคัญชาวนาไม่ควรใช้ (ยาน็อก) เช่น สารจำพวกแอลฟาไซเพอร์มิท ทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน ไซเพอร์มิทริน ไซเฮโลทริน เดลทาเม ทริน เอสแฟนแวเลอเรต เพอร์มิทริน เบต้าไซฟลูทริน ไตรอะโซฟอส ซึ่งสารจำพวกนี้จะทำลายศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น มวนเขียว แมงมุม ซึ่งจะส่งผลให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีการระบาดมากขึ้น
สำหรับชาวนาที่มีการปลูกข้าวไปแล้ว จะต้องไม่ใช้สารจำพวกอะบาเม็กตินในนาข้าว และให้ลดระดับน้ำให้นาพอเปียก ประมาณ 7 วัน ก่อนเอาน้ำเข้าสลับกันไป จะช่วยปรับสภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ อีกทั้งควรหมั่นตรวจแมลงที่โคนต้นข้าวอย่างสม่ำเสมอ และให้ระมัดระวังในการใช้สารฆ่าแมลง ควรใช้ตามคำแนะนำ ถ้าตรวจพบการระบาดมากกว่า 10 ตัวต่อกอ ในนาข้าวที่มีอายุไม่เกิน 45 วัน ให้พ่นสารจำพวกบูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซ์ ในส่วนของข้าวที่มีอายุเกิน 45 วัน ให้พ่นสารจำพวกไทอะมิโทแซม โคลไทอะนิน ไดโนทีฟูเรน คาร์โบซัลแฟน
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่าในขณะนี้ทางกรมการข้าวได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ขอความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมให้แก่ชาวนาในพื้นที่ พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจ ถึงขั้นตอนการป้องกัน กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้สำนักเมล็ดพันธุ์ข้าวเร่งดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยแล้ว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=36709
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า