เลิกเผาฟางสร้างพลังงานทดแทน
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 52
เลิกเผาฟางสร้างพลังงานทดแทน
แม้ปัจจุบันฟางข้าวจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่การเผาฟางเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด แม้ว่าเกษตรกรเองจะไม่อยากเผาฟางก็ตาม แต่ว่าผลกระทบที่ตามมานั้นไม่เพียงความร้อนที่เกิดจากการเผาจะทำลายธาตุอาหารในดิน และได้ผลผลิตคุณภาพไม่ดีแล้ว การเผาฟางยังเป็นการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศอีกด้วย
น.ส.ไตรทิพย์ สุรเมธางกูร นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางหนึ่งในการจัดการฟางข้าวที่น่าสนใจ คือการนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยการสนับสนุนของภาครัฐในการใช้ชีวมวล เพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งในหลายประเทศเริ่มมีการใช้ฟางข้าวและฟางข้าวสาลีเป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำในการผลิตความร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าพลังไอน้ำบ้างแล้ว เช่น ประเทศเดนมาร์ก อังกฤษ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ขณะที่ประเทศไทยมีความพยายามในการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานมากแต่ยังประสบความสำเร็จไม่มากนัก เนื่องจากฟางข้าวเป็นชีวมวลที่มีค่าความร้อนต่ำ อีกทั้งยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว และมีค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมที่กำลังใช้กันอยู่ เช่น แกลบ เศษไม้ เปลือกปาล์ม ส่งผลให้ฟางข้าวกว่า 50% ต้องถูกเผาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้นเพื่อหาเทคโนโลยีที่นำฟางข้าวไปใช้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกิดประโยชน์ที่ได้ผลคุ้ม ค่าต่อการลงทุน อันจะช่วยหยุดสร้างมลพิษจากการเผาฟาง และได้แหล่งพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น จึงได้ศึกษานโยบายเกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาผลิตพลังงานในประเทศไทยด้วยการประเมินความเป็นไปได้ใน 4 ด้าน คือ
1. ศักยภาพของทรัพยากรที่สามารถนำออกมาใช้ได้จริง
2.ความเหมาะสมของประเภท และขนาดของเทคโนโลยีกับศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่
3.ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ของผู้ลงทุนและสังคมรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และ
4.สิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนวทางของนโยบายที่ภาครัฐควรจะสนับสนุน
“ผลจากการประเมินพบว่า ฟางข้าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ด้วยการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมในโรงงานจะมีศักยภาพมากกว่าการผลิต กระแสไฟฟ้า และเสนอให้รัฐสนับสนุนการใช้ฟางโดยการให้เงินสนับสนุนต่อปริมาณฟางที่ใช้ 300-340 บาทต่อกิโลกรัม (แทนที่จะสนับสนุนต่อหน่วยกระแสไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฯ) เพื่อเปิดโอกาสให้นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเงินสนับสนุนนี้คำนวณโดยคำนึงถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องจ่ายหากเราหยุดเผาฟางได้”
สำหรับการนำไปใช้ก็สามารถทำได้ทันทีเพราะในภาคกลางยังมีโรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมันเตา ถ่านหิน สำหรับหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นถ่านหินผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนมาใช้ฟางข้าวได้ทันที แต่ถ้าเป็นน้ำมันเตาก็เปลี่ยนเพียงหัวเตาเท่านั้น ในส่วนการประเมินความคุ้มทุนนั้นพบว่า ฟางข้าวจะต้องมีราคาต่ำกว่า 860 บาทต่อตัน ซึ่งวิธีการลดต้นทุนที่ทำได้เลยในขณะนี้คือ ให้เกษตรกรเก็บฟางข้าวเป็นก้อนสี่เหลี่ยมไว้ข้างนา โดยอัดให้แน่น (ประมาณ 18-20 กก.ต่อฟ่อน) ด้วยเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว จากนั้นผู้ประกอบการส่งรถพ่วง 2 ตอนมารับซื้อจากนาโดยตรง และเตรียมความพร้อมของฟางก่อนป้อนเข้าเตาเผาด้วยการสับให้ชิ้นเล็กลง ส่วนในอนาคตเสนอให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรเก็บฟางข้าวให้อยู่ ในรูปแบบของเชื้อเพลิงอัดแท่งได้ทันทีที่ทุ่งนา เพื่อให้บรรทุกได้ในปริมาณมากขึ้นในพื้นที่เท่ากัน ซึ่งนอกจากจะลดจำนวนเที่ยวและประหยัดค่าการขนส่งแล้วยังนำไปใช้เป็นเชื้อ เพลิงได้ทันทีโดยไม่ต้องสับ แต่ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการผลักดันจากภาครัฐในการพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่อไป
การใช้ฟางเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากจะช่วยให้หยุดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังได้ “พลังงาน” และ “ลดโลกร้อน” ได้อีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=37158
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า