เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 52
อาหารที่เปิบเข้าไปแต่ละมื้อ นอกจากปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไปแล้ว คุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ร่างกายได้รับต้องครบถ้วน
ปัจจุบัน กลุ่มผู้บริโภคต่างให้ความสนใจในคุณค่าอาหารที่เปิบเข้าไปแต่ละมื้อนั้น นอกจากปริมาณที่เหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไปแล้ว คุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ร่างกายได้รับต้องครบถ้วน
ฉะนี้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง รศ.ดร.ไพโรจน์ วิริยจารี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะ ได้ร่วมทำวิจัย โครงการเสริมคุณค่าทางโภชนาการของข้าวนึ่งและการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร (Nutritive Enrichment of Parboiled Rice and Its Application in Food Industry) ขึ้น และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัย
รศ.ดร.ไพโรจน์ หัวหน้าโครงการ บอกว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวนึ่งเสริมคุณค่าทางโภชนาการ ในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ที่ได้จากการนำข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 และข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 โดย ใช้เทคโนโลยีการแทรกซึมภายใต้สุญญากาศ (Vacuum Impregnation Technology) อันเป็นขบวนการที่ทำให้คุณค่าทางโภชนาการจากสารละลายแทรกซึมเข้าไปสู่ภายในเนื้อเมล็ดข้าว ซึ่งจะช่วยให้คุณค่าต่างๆ มีความคงตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ได้ดี
โดยกลุ่มวิจัยได้เลือก สารโภชนาการที่นำมาเสริมในข้าวจากธรรมชาติ คือ น้ำนม ซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมและแร่ธาตุต่างๆ น้ำคาร์โมมายด์ เป็นแหล่งสารสมุนไพรและสารต้านอนุมูลอิสระ และ น้ำลูกหม่อน ซึ่งจะมีธาตุเหล็กและสารต้านอนุมูลอิสระ
สำหรับขั้นตอนการผลิต เริ่มจากนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำนำไปนึ่งทั้งเปลือกให้สุก อบแห้งและนำมาขัดสีเป็นข้าวสารจากนั้นนำมาเสริมคุณค่าทางโภชนาการด้วยการนำข้าวที่นึ่งแล้วมาแช่ในสารละลายที่เตรียมไว้แล้วนำเข้าเครื่องแทรกซึมภายใต้สุญญากาศ เสร็จแล้วอบให้แห้งอีกครั้งหนึ่ง จะได้ผลิตภัณฑ์ข้าวสารน้ำนม ข้าวสารคาร์โมมายด์และข้าวสารลูกหม่อน
และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าอีกทั้งเป็นการยืดอายุการเก็บให้นานขึ้น ทีมวิจัยจึงนำข้าวที่ผ่านการแช่สารละลายไปคั่วเป็นข้าวพองแล้วส่งต่อเพื่อ นำไปใช้เป็นวัตถุ ดิบใช้ในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวชนิดแท่ง พร้อมนำไปคำนวณหาคุณค่าทางโภชนาการที่พัฒนาได้ให้ผลว่า เทคโนโลยีการแทรกซึมภายใต้สุญญากาศสามารถเสริมคุณค่าทางโภชนาการเข้าไปในข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธาตุแคลเซียม ในข้าวเหนียวน้ำนมจากเดิมมีคุณค่าอยู่ที่ 7 มก.เพิ่มขึ้นเป็น 16 มก./100 กรัม ส่วนในข้าวเจ้าน้ำนมจากเดิมมีเพียง 3 มก.เพิ่มขึ้นเป็น 15 มก./100 กรัม ตามลำดับ
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังมุ่งพัฒนาต่อยอดผลิตข้าวสำหรับผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เช่น ข้าวสำหรับเด็ก ข้าวสำหรับผู้สูงวัย หรือข้าวสำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการแร่ธาตุบางอย่างเฉพาะที่สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-5394-8230 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 ธันวาคม 2552
http://www.thairath.co.th/content/edu/52680