'หนึ่งสหกรณ์ หนึ่งโรงปุ๋ย' ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 52
'หนึ่งสหกรณ์ หนึ่งโรงปุ๋ย' ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
การสร้างเครือข่ายรายสินค้าระหว่างสหกรณ์ชุมชนและผู้บริโภคจะเกิดกำไรขึ้นได้นั้น สมาชิกต้องรู้ว่าต้นทุนการผลิตมีจำนวนเท่าไร และแนวทางการรับรู้ดังกล่าวได้นั้นก็คือ การนำกลไกการบัญชีโดยเฉพาะในด้านระบบไอทีเข้ามามีส่วนร่วม
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า นอกจากจะช่วยให้ระบบการทำงานเกิดความรวดเร็ว ยังสามารถตรวจสอบทุน กำไร และยังใช้เป็นเครื่องมือเตือนภัยทางการเงินให้กับสหกรณ์ได้ต่อเนื่องทุกเวลา ซึ่งที่ผ่านมานั้นกรมตรวจบัญชีได้นำระบบดังกล่าวลงไปใช้ในสหกรณ์เฉลี่ย ประมาณ 1,500 แห่ง จากจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3,700 แห่ง และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปี จะสามารถนำระบบดังกล่าวเข้าไปใช้ในสหกรณ์ได้ครบทุกแห่ง
สหกรณ์นางรอง จำกัด เป็นอีกหนึ่งในหลาย ๆ สหกรณ์ที่เป็นต้นแบบ ที่หลังจากนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า 5 ธุรกิจหลักของสหกรณ์ภาคการเกษตร ทั้งการรับฝากเงิน ให้สินเชื่อ จัดหาสินค้ามาจำหน่ายรวบรวมผลิตผล/แปรรูป และธุรกิจให้บริการ ณ ปัจจุบันสถานะเป็นอย่างไร ควรต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง ลด และเพิ่มด้านใดบ้าง นอกจากสมาชิกสามารถลดต้นทุนได้กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ อย่างการผลิตปุ๋ยฯ ซึ่งเป็นธุรกิจล่าสุดของสหกรณ์แห่งนี้ การดำเนินงานเพื่อให้ได้ผลกำไรสูง ต้องพัฒนาและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อม ๆ กัน
นายศิริไพบูลย์ นุศิริหาญ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรนางรอง จำกัด เล่าว่า วันนี้ธุรกิจของสหกรณ์มี น้ำมัน สินเชื่อ การแปรรูป การซื้อมาขายไป และธุรกิจภาคการเกษตรในด้านการจัดหาวัสดุ ที่แต่เดิมจะเป็นการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์ ซึ่งการเจรจากว่าจะตกลงกันนั้น ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน บางครั้งมีการตรวจสอบถึงสถานะทางการเงิน แต่เมื่อนำระบบไอทีเข้ามาใช้ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น การตรวจทานหนี้ทำได้เร็ว อีกทั้งสมาชิกสามารถตรวจสอบสถานการณ์สหกรณ์ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ ผิดแผกกับแต่ก่อนที่การตรวจทานหนี้ ทุน กำไร จะทำกันเพียงปีละครั้ง เพราะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์และสหกรณ์ด้วยกันเองได้ในระหว่างดำเนินการ หากธุรกิจด้านใดเกิดการเสี่ยงระบบไอทียังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือชี้วัดและส่งสัญญาณเตือนว่า ควรต้องเร่งปรับปรุงส่วนไหนอย่างไร อย่างเช่นการซื้อปุ๋ยของสหกรณ์นางรองฯ ที่เดิมจะเจรจากับบริษัทพ่อค้า เพื่อจัดหาปุ๋ยให้สมาชิกใช้ในนาข้าว กระทั่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้มีหนึ่งสหกรณ์ หนึ่งโรงปุ๋ยขึ้น สหกรณ์นางรองฯ จึงหันมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตรารุ้งตะวันผสมกรดซิลิคอนขึ้น เพื่อจำหน่ายให้กับสมาชิกและเกษตรกรในจังหวัดใกล้เคียง
สำหรับปุ๋ยฯ กรดซิลิคอนสามารถละลายน้ำได้ดี พืชสามารถนำไปใช้พร้อมกับน้ำและธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ ได้เร็ว ซึ่งการผลิตปุ๋ยดังกล่าว จะใช้วัตถุดิบ ได้แก่ มูลโค ซึ่งทำสัญญากับสหกรณ์หนองโพฯในการรับซื้อราคา กก.ละ 1 บาท ซิลิคอนผง ซิลิคอนน้ำ แกลบดำ ที่ได้จากการนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอบลดความชื้น ปุ๋ยแร่บะซอลต์จากพื้นที่ของจังหวัด จากนั้นการผลิตจะผ่านกระบวนการต่าง ๆ กระทั่งออกมาเป็นปุ๋ยบรรจุถุงที่มีน้ำหนักรวม 50 กก. โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 5-6 ตัน ต่อวัน
หากอยากทราบถึงเคล็ดลับความสำเร็จของการดำเนินงานสหกรณ์ หรือเรื่องการผลิตปุ๋ย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-4463-1186.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=37153
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า