เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 52
ด้วงน้ำมัน เป็นแมลงปีกแข็ง ตัวดำ ขาดำและหนดดำ พบได้ทั่วประเทศ จะเริ่มระบาดมากในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เมื่อราวเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 แถวๆจังหวัดทางภาคเหนือ ได้เกิดมีแมลงชนิดหนึ่งกัดคนจนเกิดเป็น แผลลุกลามถึงขั้นเสียชีวิต แล้วก็ทราบในภายหลังว่าแมลงตัวนี้ คือ ด้วงน้ำมัน (Blister beetle) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Mylabris phalerata Pall. หรือชาวบ้านเรียกว่า ด้วงโสน ด้วงไฟถั่ว
จัดเป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวมีขนาดกลาง ยาวประมาณ 2.5 ซม. กว้างประมาณ 1 ซม. ตัวสีดำ ขาสีดำ หนวดสั้นสีดำ บริเวณปีกมีแถบสีเหลืองส้มพาดขวาง 3 แถบ ขวางปีกคู่หน้า ปลายปีกสีดำ ปีกคู่หน้าสีดำ มีขีดสีเหลืองตามยาวขอบปีกข้างละขีด ส่วนหัวสีแดง และ อกมีขนาดเล็กกว่าลำตัว
สามารถพบเห็นได้ทั่วประเทศ (แต่ในกรุงเทพมหานครยังไม่ปรากฏว่ามีใครพบตัวมัน) โดยเริ่มพบตั้งแต่ เดือนเมษายน จะพบระบาดมากในระหว่าง เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน
สำหรับ ชีวประวัติของด้วงน้ำมันนี้ นักวิจัยยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียด ทราบแต่เพียงว่า ตัวเมียวางไข่ในดิน หลังจากไข่ฟักออกเป็นตัวหนอน ตัวหนอนของด้วงน้ำมันเป็นแมลงห้ำ คอยหาไข่ตั๊กแตนกินเป็นอาหารจนโต เมื่อเข้าดักแด้ในดินแล้วก็จะบินไปหากินพืชตระกูลถั่ว หรือต้นฝ้าย กระเจี๊ยบแดง ปอแก้ว ตลอดจนไม้ดอกชนิดต่างๆ
นอกจากจะเป็นศัตรูตัวฉกาจพันธุ์พืชของเกษตรกรแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์เราได้มากอีกด้วยเพราะมันมี สารพิษอยู่ในลำตัว เมื่อถูกรบกวนจะปล่อยสารพิษออกมาเพื่อป้องกันตัวเอง
ซึ่งสาร พิษนี้มีชื่อว่า แคนทารีดิน มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองอ่อนคล้ายน้ำมัน ใน ด้วงน้ำมัน 1 ตัวจะมีสารแคนทารีดินประมาณ 6-7 มิลลิกรัม
หากโดนผิวหนังจะทำให้เป็น แผลผื่นพุพอง ปวดแสบปวดร้อน ยิ่งเกาก็จะยิ่งทำให้ลามไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อเกามือก็จะเลอะสารนี้ ยิ่งไปสัมผัสบริเวณอื่นก็จะแพร่กระจายไป
ส่วนใครรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อุจจาระร่วง ปัสสาวะเป็นเลือด และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว
วิธีป้องกันอันตราย หากเผลอไปโดนเข้าก็ให้รีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว หรือเช็ดด้วยแอมโมเนียออกทันที เพื่อป้องกันการลุกลาม และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยใช้ผงถ่านดูดซับสารพิษ จากนั้นก็รักษาระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวและอาการช็อก ให้เลือดและน้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือดดำ และป้องกันอันตรายที่เกิดกับไต โดยทำให้มีการถ่ายปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
เกษตรกรที่พบเห็นด้วงน้ำมันมารบกวนแปลงปลูกพืช และหากมีปริมาณมากผิดปกติ นักวิชาการได้แนะนำให้ใช้สาร carbaryl 0.1% (Sevin 85% WP) พ่น 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน มันก็จะเสียชีวิตไปในที่สุด
และล่าสุดในปีนี้ก็พบว่ามีการระบาดขึ้นมากอีก ใครที่รู้แล้วก็ควรระมัดระวัง อยู่ให้ห่างๆมันจะดีกว่า และโดยเฉพาะผู้ปกครองที่มีเด็กๆที่ชอบไปเดินเล่นในแปลงผักอย่าเผลอเด็ดขาด หากสัมผัสกับมันก็ปฏิบัติตามขั้นตอนที่บอกไว้ก็จะปลอดภัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 15 ธันวาคม 2552
http://www.thairath.co.th/content/edu/52876