เครื่องคัดมังคุดเครื่องแรกของโลก ตรวจสอบภายในและรสชาติผลไม้
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 52
เครื่องคัดมังคุดเครื่องแรกของโลก ตรวจสอบภายในและรสชาติผลไม้
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมนักวิจัยของประเทศญี่ปุ่น คิดค้นสิ่งประดิษฐ์
เครื่องคัดผลไม้ สามารถตรวจสอบคุณภาพภายในของมังคุด และ มะม่วง พร้อมวัดความสุกแก่ หรือความหวานของผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วยนางวารุณี ธนะแพสย์ รองผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ หนึ่งในทีมผู้ร่วมทำงานวิจัยเรื่อง “
การพัฒนาเครื่องคัดมังคุดในระบบสายพานเพื่อตรวจสอบเนื้อแก้ว, ยางไหล และความหวาน” เล่าว่า โครงการนี้ได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากกระทรวงเกษตร, ป่าไม้ และประมง จากประเทศญี่ปุ่น (MAFF) ในปีงบประมาณ 2550 และ 2551 และได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกันกับ 4 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มูลนิธิสถาบันเทคโนโลยี SAIKA ประเทศญี่ปุ่น, สถาบันวิจัยอาหารแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น และสมาคมนวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตร ป่าไม้ และประมง แห่งประเทศญี่ปุ่น
เครื่องคัดผลไม้นี้สามารถตรวจสอบคุณภาพภายในของผลไม้ได้ผลแม่นยำ โดยการวิจัยได้เลือกตรวจสอบคุณภาพภายในของผลไม้ 2 ชนิด คือ มังคุด และ มะม่วง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ประเทศไทยมีการส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าผลไม้ชนิด อื่น ๆ อีกทั้งมีราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับชาวต่างชาตินิยมรับประทาน ส่วนผลไม้ชนิดอื่น ๆ ก็สามารถวัดได้เช่นกัน แต่ต้องมีการพัฒนาระบบต่อไปอีก
นางวารุณี เล่าถึงหลักการทำงานของเครื่องคัดผลไม้ด้วยระบบสายพานว่า เครื่องคัดผลไม้มีขั้นตอนการทำงานหลัก 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือ ระบบลำเลียงผลไม้จะผ่านระบบสายพานถูกลำเลียงไปยังจุดถ่ายภาพ เพื่อวัดขนาด และวัดสีผิวที่เปลือก หลังจากนั้นจะส่งต่อไปยังจุดที่สองเพื่อสแกนด้วยแสงย่านใกล้อินฟราเรด (Near Infrared Spectroscopy) และขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการคัดคุณภาพของมังคุดเนื้อแก้ว และยางไหลออกจากมังคุดดี
นอกจากนี้เครื่องยังสามารถตรวจสอบความหวาน โดยแบ่งความหวานเป็นปริมาณมาก ปานกลางและน้อยตามลำดับได้
ขณะนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยขั้นสุดท้ายคือ การนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงอุตสาหกรรมส่งออกมังคุด ทีมนักวิจัยยังคงต้องดำเนินงานวิจัยไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทำให้การตรวจสอบโดยวิธีไม่ทำลายมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลปลูก, การดูแลรักษา, พื้นที่การปลูก เป็นต้น มาศึกษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ทีมงานวิจัย คาดว่าจะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่สมบูรณ์แบบในการตรวจสอบเนื้อแก้ว, ยางไหล และความหวานของมังคุด โดยไม่ทำลายได้ในลักษณะระบบสายพานที่จะใช้ในโรงบรรจุผลไม้ ซึ่งจะสามารถคัดมังคุดส่งออกให้มีคุณภาพดีไปยังต่างประเทศได้ และจะช่วยทำให้ประเทศชาติสามารถขยายการส่งออกมังคุดได้มากขึ้น นอกจากนี้เครื่องคัดผลไม้ระบบสายพานยังสามารถวัดความสุกแก่ หรือความหวานของผลไม้ชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ เงาะ ส้มโอ เป็นต้น
เครื่องคัดผลไม้ด้วยระบบสายพาน จึงเป็นนวัตกรรมใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ผู้ส่งออกมังคุด และส่งออกผลไม้ชนิดอื่น รวมถึงผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นอกจากนี้ยังถือเป็นความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย นับเป็นเครื่องคัดผลไม้เครื่องแรกของโลกที่สามารถตรวจสอบคุณภาพภายในและรสชาติของผลไม้เมืองร้อนที่มีเปลือกหนาได้ผลโดยไม่ต้องทำลายผลไม้
สนใจข้อมูลสอบถามได้ที่ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ โทร.0-2942-8600-3 ต่อ 503 หรือ 506.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=37344
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า