เปิดตลาดผลไม้ไทยไปนอก เจาะลึกเมืองจีนแหล่งซื้อใหญ่
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 52
เปิดตลาดผลไม้ไทยไปนอก เจาะลึกเมืองจีนแหล่งซื้อใหญ่
ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรของไทยมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตประเภทใด ๆ โดยเฉพาะผลผลิตกลุ่มผลไม้ที่มีมากมายในทุกพื้นที่ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาคและประเทศไปแล้ว
เมื่อปริมาณผลไม้ไทยไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด สับปะรด องุ่น ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ มีมากมายเกินความจำเป็นที่จะบริโภคในประเทศ ทำให้การหาตลาดภายนอกประเทศเป็นทางออกหนึ่งของการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ
ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการส่งออกผลไม้ไทยไปในประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย หรือในเอเชียด้วยกันเอง แต่ด้วยข้อจำกัดของอายุและความคงทนของผลไม้ต่าง ๆ นั้นทำให้การเพิ่มยอดหรือรายได้กระทำได้ค่อนข้างยาก
แต่ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลไทยในหลาย ยุคหลายสมัยต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุครัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ของโลก คือ จีน ที่มีกำลังซื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบงานด้านการค้าการลงทุนกับจีนโดยเฉพาะนั้น กล่าวไว้ว่า เวลานี้การจะมองจีนต้องมองแบบมองใหม่-คิดใหม่ ด้วยความที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่แบ่งการปกครองเป็นมณฑล การจะขยายลู่ทางการค้าให้ได้ผล จึงต้องเลือกพิจารณาเป็นรายมณฑล โดยดูว่ามณฑลไหนควรเน้นด้านใด ซึ่งเป้าหมายหลักที่เราเน้นในช่วงที่ผ่านมา คือ การขยายการค้ากับมณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากเป็นมณฑลที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีน มีการค้าขายกับต่างประเทศรวมทั้งไทยในทุกมิติสูงสุดเป็นอันดับ 1
ขณะที่กลุ่มสินค้าที่รัฐบาลเลือกทำตลาดนั้นคือหมวดสินค้าการเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการผลิต โดยเฉพาะการขยาย ตลาดผลไม้เพื่อเป็นฐานสำหรับการขยายไปสู่สินค้าเกษตรประเภทอื่นต่อไป โดยตลาดผลไม้ที่กำลังทำนั้น เราพยายามจะสร้างตลาดขึ้นมา 2 ตลาด คือ 1.Physical Market และ 2.Virtual Market
Physical Market คือ การทำตลาด กลางสินค้าเกษตรหรือผลไม้ไทยในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง โดยเป็นตลาดสินค้าระดับพรีเมี่ยมและทำคู่ขนานไปกับตลาดเจียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเพราะเป็นตลาดเหมาเข่ง คละเกรด เราต้องแยกทำตลาดสินค้าเกรดพรีเมี่ยมของเราขึ้นมาด้วยแต่ตลาดแบบเจียงหนาน ก็ยังมีอยู่โดยทำคู่ขนานกันไป เพราะการทำตลาดพรีเมี่ยมทำให้สินค้าไทยมีอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจะได้เปรียบ เป็นการเปิดตลาดใหม่ ให้คู่ค้าของเราเลือกรูปแบบการค้ากับเราได้ ซึ่งตอนนี้ทางจีนได้ตอบรับในแนวคิด นี้แล้ว
ส่วนการตลาดแบบ Virtual Market นั้นเป็นการจัดทำเว็บไซต์เกี่ยวกับสินค้าเกษตรและผลไม้ไทยที่มีอยู่แล้วและกระจัดกระจายกันมากให้เป็นรูปแบบและทิศทางเดียวกัน เราต้องเปิดเว็บไซต์สำหรับไทย-จีนโดยเฉพาะเพื่อเพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายและช่องทางการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเมื่อเวลามีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าเกิดขึ้น หากเราทำ Virtual Market หรือเว็บไซต์ขึ้นมา ก็จะนำไปสู่การติดต่อค้าขายและให้ข้อมูลที่ดีได้ ซึ่งเรื่องนี้ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ได้ผลตอบรับกลับมาสูงมาก
หากสามารถทำตลาดทั้ง 2 แบบได้สำเร็จ จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับการค้าไทย-จีนได้แน่นอนและการเปิดศักราชใหม่ทางการค้าดังกล่าวย่อมไม่ได้ หมายถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้ประกอบการส่งออกและเศรษฐกิจของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่านโยบายการบริหารงานด้านการค้าการลงทุนของรัฐบาลสามารถนำพาประเทศไทยให้สามารถต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นได้จริง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=37735
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า