เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 52
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้การจัดทำระบบประกันคุ้มครองความเสียหายผลผลิตของเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ แทนวิธีการช่วยเหลือในรูปแบบเดิม และได้สรุปผลการศึกษาเรียบร้อยแล้ว โดยรูปแบบการช่วยเหลือและชดเชยความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรที่เห็นว่า มีความเหมาะสมและปฏิบัติได้จริง คือ การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติด้านการเกษตรโดยภาครัฐ ซึ่งแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ 1.สมาชิกสถาบันเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร่วมกับภาครัฐ 2.รัฐสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฝ่ายเดียว
โดยแนวทางแรกรัฐบาลจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งสมทบเข้ากองทุน ตามวงเงินเดิมที่รัฐเคยจ่ายกรณีเกิดภัยธรรมชาติในแต่ละปีหรือมากกว่า ในเบื้องต้นกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินกองทุนหรือประมาณปีละ 3,212.96 ล้านบาท ขณะเดียวกันสมาชิกทุกคนจ่ายสมทบเงินเข้ากองทุนอัตราร้อยละ 20 ของเงินกองทุน หรือตามที่คณะกรรมการนโยบายชดเชยผลผลิตการเกษตรที่ประสบภัยธรรมชาติกำหนด ซึ่งการจ่ายสมทบตามสัดส่วนที่กำหนดนี้ จำนวนเงินที่จะได้รับการชดเชยก็จะเพิ่มมากกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันด้วย เช่น ไก่ เกษตรกรสมทบตัวละ 0.08 บาท จะได้รับชดเชยเมื่อเสียหายตัวละ 24.00 บาท จากปัจจุบันที่ได้รับตัวละ 15 บาท เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่จ่ายสมทบเข้ากองทุนก็ยังคงได้รับความช่วยเหลือในอัตราเดิมที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนแนวทางที่ 2 คือ รัฐเป็นผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนฝ่ายเดียว ขณะที่สมาชิกสหกรณ์ สมาชิกกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรรายย่อยไม่ต้องจ่ายสมทบ เพราะไม่ต้องการให้เกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่าย แต่การชดเชยที่เกษตรกรจะได้รับก็ลดลงร้อยละ 20 ไปด้วย ซึ่งจะได้เท่ากับอัตราการจ่ายในปัจจุบัน
ขณะที่การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนจะมีอยู่ 3 กรณี คือ 1.ชดเชยความเสียหายด้านผลผลิตการเกษตร 2.ช่วยเหลือด้านเงินกู้สำหรับการฟื้นฟูการผลิต 3.ชดเชยดอกเบี้ยจากการพักชำระหนี้ของสมาชิกกองทุนผู้ประสบภัยให้กับสถาบันเกษตรกร โดยกระทรวงฯจะนำผลการศึกษาดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 18 ธันวาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=191904