ลดต้นทุนการผลิตด้วยก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 52
ลดต้นทุนการผลิตด้วยก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์
จากสถานการณ์ด้านพลังงานในปัจจุบันโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่มีราคาสูง ขึ้นส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในระดับรากหญ้าที่มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเหล่านี้ในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต โดยเฉพาะชาวบ้านในตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่มีราคาแพงมากกว่าที่อื่น ๆ เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่บนเขาที่ห่างไกลทำให้มีค่าขนส่งสูงขึ้น ทั้งก๊าซหุงต้มและน้ำมันจึงมีราคาแพงกว่าพื้นที่ราบ
“โครงการพลังงานก๊าซชีวภาพเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” จึงเกิดขึ้น นายจีระศักดิ์ ตรีเดช หัวหน้านักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนท้องถิ่นในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ เล่าว่า โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากเรื่องของมลพิษจากมูลสัตว์ โดยชุมชนบ้านห้วยลาดมีการทำฟาร์มเลี้ยงหมูซึ่งส่งกลิ่นเหม็นไปรบกวนชาวบ้าน ประกอบกับหน้าที่ในปัจจุบันคือการส่งเสริมด้านเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ ก็เลยคิดว่าควรให้เกษตรกรแปลงมูลสัตว์ไปเป็นพลังงาน จึงเริ่มศึกษาใน เรื่องของการนำมูลสัตว์ต่าง ๆ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะได้ก๊าซชีวภาพไว้ใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มแล้ว มูลสัตว์ที่ผ่านกระบวนการหมักแล้วก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ในเรือกสวนไร่นาได้อีกด้วย
“พอมลพิษหมดไปความขัดแย้งก็หายไป ซึ่งโครงการนี้ทำให้ชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องของก๊าซหุงต้มลงได้ นอกจากนี้ผลพลอยได้จากกระบวนการหมักก๊าซ ก็สามารถที่จะนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งชาวบ้านสามารถนำไปใช้ฟื้นฟูระบบนิเวศและลดต้นทุนการผลิต แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือถ้าชุมชนมีความตระหนัก เข้าใจ มีจิตสำนึก เห็นคุณค่าและประโยชน์ของบ่อก๊าซชีวภาพก็จะทำให้เกิดเป็นพลังงานทางเลือกของชุมชน” นายจีระศักดิ์ระบุ
นายสมยศ พรหมพล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยลาด ต.หลักด่าน อ.น้ำหนาว และผู้ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มหมูที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับโรงเรียนกล่าวว่า การเลี้ยงหมูจะต้องล้างโรงเรือนทุกวัน ซึ่งน้ำที่ไหลทิ้งออกมาจากโรงเลี้ยงหมูไหลนองไปทั่วทำให้พื้นที่บริเวณฟาร์มสกปรกมาก ซ้ำยังสร้างปัญหาในเรื่องของกลิ่นเหม็นและแมลงวันไปรบกวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ประกอบกับที่บ้านเปิดร้านขายอาหารตามสั่งซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษนี้ด้วยเช่นกัน ทางทีมงานจึงเสนอว่าน่าจะนำของเสียเหล่านั้นมาผลิตพลังงานทดแทนด้วยการทำเป็นก๊าซชีวภาพจากขี้หมู จึงเริ่มไปศึกษาดูงานจากสถานที่ต่าง ๆ แล้วนำกลับมาทดลองทำโดยร่วมกับทีมงานและชาวบ้านที่สนใจสร้างบ่อหมักก๊าซขึ้นมา
“ข้อดีคือเราได้ใช้ก๊าซชีวภาพซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เดือนละกว่า 1,000 บาท กลิ่นเหม็นต่าง ๆ ก็น้อยลงจนแทบจะไม่มี ขี้หรือกากที่เหลือจากการหมักก็นำไปทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ และน้ำที่ล้นออกมาจากบ่อก็เอามารดต้นไม้เป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพอย่างดีทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ซึ่งก๊าซที่ได้มีปริมาณเพียงพอต่อการประกอบอาหารขายได้ทั้งวัน ตอนนี้ก็กำลังจะทดลองต่อออกไปยังโรงเรียนเพื่อใช้ในการประกอบอาหารกลางวัน ให้กับนักเรียนจำนวน 224 คน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายในเรื่องของก๊าซหุงต้มไปได้วันละไม่น้อยกว่า 20-50 บาท ซึ่งสามารถเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อกับข้าวเพิ่มเติมให้กับเด็ก ๆ ได้ และยังต่อท่อก๊าซ ไปให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ทดลองใช้ ปัจจุบันชาวบ้านก็เริ่มสนใจและเห็นประโยชน์ของพลังงานทางเลือกเพราะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ” ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยลาดระบุ
นางอำไพ พิกุลทอง เจ้าของร้านพิกุลทองซึ่งเปิดจำหน่ายอาหารตามสั่ง และร้านขายของชำอยู่บริเวณด้านหน้าของฟาร์มเลี้ยงหมูบอกว่า เริ่มใช้ก๊าซขี้หมูมาประมาณ 2 เดือน โดยนำมาใช้ต้มน้ำในหม้อก๋วยเตี๋ยว โดยเปิดใช้ก๊าซตั้งแต่ 06.00-18.00 น.ทุกวัน ซึ่งพบว่ามีก๊าซให้ใช้ได้ตลอด
“ปกติจะใช้ก๊าซหุงต้มเฉลี่ยประมาณ 8-10 วันต่อถัง หรือเดือนละ 3-4 ถัง ซึ่งการใช้ก๊าซชีวภาพจากขี้หมูนั้นจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึงเดือนละ 900-1,000 บาท ความร้อนที่ได้ก็รู้สึกว่าจะร้อนกว่าก๊าซหุงต้ม และไม่มีกลิ่นเหม็นขี้หมูติดมาในก๊าซ” นางอำไพกล่าว
ก๊าซชีวภาพจากขี้หมูนอกจากจะช่วยลดโลกร้อน ลดกลิ่น ลดความขัดแย้งในชุมชนแล้ว ยังสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้าน เปลี่ยนให้คนที่ก่อมลพิษทางกลิ่นมาเป็นผู้ให้พลังงานแก่ชุมชน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=38600
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า