เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 52
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมแลผลิตภัณฑ์นมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการจัดสรรโควตานำเข้านมผงขาดมันเนย ปี 2553 ให้ผู้ประกอบการจำนวน 57,574 ตัน ตามข้อตกลงองค์กรการค้าโลก หรือ WTO จำนวน 55,000 ตันและข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA จำนวน 2,574 ตัน โดยจัดเก็บภาษีอัตราร้อยละ 5 ทั้งนี้ได้เเบ่งสัดส่วนการนำเข้าเป็น 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกให้มีการนำเข้ารวมจำนวน 43,575.28 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของโควตาที่เปิดตลาดในปี 2553 โดยให้ผู้ประกอบการที่ใช้น้ำนมดิบ ได้รับการจัดสรรโควตาในปริมาณร้อยละ 80 หรือคิดเป็น 34,947.07 ตัน ซึ่งได้อนุมัติผู้ประกอบการไปแล้ว จำนวน 14 ราย ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช้น้ำนมดิบ ได้รับจัดสรรโควตาในปริมาณ ร้อยละ 20 หรือคิดเป็น 8,628.21 ตัน และได้อนุมัติผู้ประกอบการไปแล้ว จำนวน 59 ราย สำหรับสัดส่วนการนำเข้าในครั้งที่สองจะพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป
นายยุคลกล่าวต่อว่า ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการได้พิจารณา คือ การนิยามคำว่า "น้ำนม" ซึ่งสืบเนื่องมาจากการที่ราชบัณฑิตยสถานได้มีหนังสือถึง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แจ้งว่าคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พิจารณามีมติให้แก้ไขบทนิยามของคำว่า "น้ำนม" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้มีความหมายครอบคลุมถึง "...ของเหลวสีขาว ทำจากพืชบางชนิด เช่น น้ำนมถั่วเหลือง น้ำนมข้าวโพด;นม ก็ว่า" ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะเป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนรับผิดชอบการพัฒนาโคนมของประเทศไทยทั้งระบบ จะทำหนังสือคัดค้านการแก้ไขบทนิยาม "น้ำนม" ของราชบัณฑิตยสถานที่ให้มีเนื้อหาครอบคลุมถึง "ของเหลวสีขาวขุ่นที่ได้จากพืช" เพื่อเป็นการแก้บทนิยามในนัยสำคัญที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง อันจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องผลิตภัณฑ์นมได้ ทั้งนี้ จะเร่งประสานงานกับราชบัณฑิตยสถานและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคัดค้านให้มีการพิจารณาทบทวนยกเลิกการแก้ไขบทนิยามดังกล่าวต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 24 ธันวาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=192669