โรคเหงาหลับในปลา
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 52
โรคเหงาหลับในปลา
โรคเหงาหลับในปลา จัดเป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่มียาหรือสารเคมีที่สามารถใช้ในการกำจัดหรือรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ สาเหตุของโรคเกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้ในเลือดของปลาน้ำจืด
ดร.ฐิติพร หลาวประเสริฐ จากสถาบันวิจัยสุขภาพน้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ได้แสดงผลวิจัยโดยการตรวจปรสิตในเลือดของตัวอย่างปลาน้ำจืดที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, ราชบุรี, สิงห์บุรี และชัยนาท เป็นต้น พบปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรคเหงาหลับในปลา จำนวน 9 ชนิด คือ ตะเพียนขาว, ดุกอุย, บู่ทราย, หมอไทย, กระดี่นางฟ้า, สลิด, กระดี่หม้อ, กะสง และปลาช่อน ส่วนปลาที่ไม่พบปรสิตเลยคือ ปลาสร้อยหลอด
ผลจากการวิจัยยังพบว่าปลาบู่ทรายมีความชุกชุมของปรสิตมากที่สุด และรองลงมาคือปลาช่อนและปลากะสงตามลำดับ มีการตรวจพบปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้ครั้งแรกในปลาทองต่อมาพบในปลาไนและพบในปลาคาร์ปที่นำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี ในประเทศไทยมีการตรวจพบปรสิตชนิดนี้ในเลือดของปลาน้ำจืดหลายชนิด เช่น ปลาแรด, ปลานิล, ปลาดุกบิ๊กอุย และปลาช่อน แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง
ดร.ฐิติพร ยังได้บอกถึงวิธีการป้องกันโรคนี้เริ่มต้นจะต้องมีการจัดฟาร์มที่ดี โดยการกำจัดปลิงซึ่งเป็นพาหะของปรสิตชนิดนี้ในระบบเพาะเลี้ยง ในปัจจุบันการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดหลายชนิดในบ้านเรา เช่น ปลาช่อน, ปลาบู่, ปลาไหลนา, ปลาหลด และปลากระดี่ เป็นต้น ยังมีความจำเป็นจะต้องอาศัยพ่อ-แม่พันธุ์ปลาจากธรรมชาติ
จากข้อมูลเบื้องต้นมีรายงานว่าในสภาวะที่ปลามีความอ่อนแอและมีปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้อยู่ในเลือด ปรสิตชนิดนี้จะสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อสุขภาพของปลา จากผลงานวิจัยนี้ทำให้ทราบว่าปลาน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยมีโอกาสพบปรสิตเซลล์เดียวมีแส้ได้มากกว่า 50% ซึ่งเมื่อรวบรวมปลามาเตรียมการเพาะพันธุ์ในโรงเพาะฟัก ปลาจะแสดงอาการของโรคในเวลาต่อมา เช่น ไม่กินอาหาร เซื่องซึมลอยหัวและตายในที่สุด เมื่อนำปลาดังกล่าวมาตรวจวินิจฉัยโรคพบว่า ปลามีอาการเหงือกซีด ตาโปนและมีปรสิตเซลล์เดียวที่มีแส้เป็นจำนวนมาก ลักษณะกลไกการก่อให้เกิดโรคนี้ เกิดจากการที่ปรสิตใช้สารอาหารและก๊าซออกซิเจนในกระแสเลือดของปลาเป็นแหล่งพลังงาน ในขณะเดียวกันก็ผลิตสารฮีโมไลซินซึ่งเป็นพิษต่อเม็ดเลือดแดง มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เมื่อจำนวนของเม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยลงปลาจะเริ่มอ่อนแอ เกิดอาการโลหิตจาง ระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลวและตายในที่สุด
ดังนั้นในการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์จะต้องระมัดระวังไม่ให้ปลาเกิดความเครียดหรืออ่อนแอและควรกำจัดพาหะ คือ ปลิงดูดเลือดไม่ให้ปนเปื้อนมากับปลา.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=39039
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า