เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 52
เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลเดนโดรเบียม (Dendrobium) ที่แต่ละปีชาวญี่ปุ่นจะมีความต้องการสูง 100-120 ล้านก้าน
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผอ.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีการผลิตดอกไม้ลดลง จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลเดนโดรเบียม (Dendrobium) ที่แต่ละปีชาวญี่ปุ่นจะมีความต้องการสูง 100-120 ล้านก้าน ซึ่งมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นการนำเข้าจากไทย ส่วนใหญ่นิยมนำไปใช้ในพิธีแต่งงานและประดับตกแต่งทั่วไป
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับหลายหน่วยงานเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปในญี่ปุ่นทราบถึงมาตรฐานการผลิตสินค้ากล้วยไม้คุณภาพของไทย รวมถึงเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย (Q) ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับของไทยไปยังญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น "ความต้องการนำเข้า สินค้ากล้วยไม้ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น การที่ประเทศไทยได้นำข้อกำหนดและมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตกล้วยไม้ และเครื่องหมาย Q สร้างความรู้ความเข้าใจตลาดส่งออกในประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับ ผู้บริโภคส่งผลให้กล้วยไม้ไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดไม้ดอกไม้ประดับ อันเป็นช่องทางให้มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต" ผอ.มกอช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีกล้วยไม้อื่นๆ อาทิ กล้วยไม้สกุลแวนด้า (Vanda) และมอคคาร่า (Mokara) ที่สามารถขยายตลาดในญี่ปุ่นได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 24 ธันวาคม 2552
http://www.thairath.co.th/content/edu/54689