เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 52
นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของคณะอนุกรรมการและคณะอนุกรรมการพิเศษต่างๆ ในด้านการเกษตรภายใต้กรอบ JTEPA พบว่า ยังคงมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามและผลักดันมากยิ่งขึ้น เช่น การเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานตรวจสอบรับรองระบบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกสำหรับการส่งออกไปญี่ปุ่น แม้ขณะนี้จะประสบความสำเร็จจากการเจรจาในระดับหนึ่ง คือ ในกรณีการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกที่จะส่งออกไปยังญี่ปุ่น จะให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยตรวจสอบรับรอง แต่โรงงานที่ยังไม่เคยผ่านการตรวจรับรองโรงงาน ฝ่ายญี่ปุ่นจะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเอง
สำหรับประเด็นที่ถือว่าประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้า คือ ความร่วมมือด้านการค้าระหว่างสหกรณ์ไทยกับสหกรณ์ญี่ปุ่น ดังนั้นจึงจะเร่งขยายความร่วมมือที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งเรื่องการเพิ่มปริมาณการค้า การส่งเสริมด้านการตลาด การลงทุน และการปรับปรุงคุณภาพความปลอดภัยของสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าเกษตรของสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรไปประเทศญี่ปุ่นที่ดำเนินการโดยผ่านบริษัทส่งออกเอกชน และมีสหกรณ์ผู้บริโภคและตลาดเอกชนเป็นจุดกระจายสินค้าในประเทศญี่ปุ่น เช่น ผลผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารพิษ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับแจ้งจากสหกรณ์ส่งออกว่าฝ่ายญี่ปุ่นได้เจรจาสั่ง ซื้อผลผลิตล่วงหน้าเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปัญหาที่พบคือ สหกรณ์ยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามปริมาณการส่งซื้อ อาทิ สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด สามารถส่งออกได้ปีละ 300 - 400 ตัน แต่ยอดที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้าจากญี่ปุ่นในปี 2552 ถึง 780 ตัน และในปี 2553 เพิ่มเป็น 1,100 ตัน ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจะเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกผลผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพียงพอกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 25 ธันวาคม 2552
http://www.naewna.com/news.asp?ID=192809