แนวทางการผลิตเนื้อคุณภาพจาก 'โคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี'
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 52
แนวทางการผลิตเนื้อคุณภาพจาก 'โคขุนพันธุ์กบินทร์บุรี'
ประเทศไทย มีการนำเข้าโคมีชีวิตจากประเทศ เพื่อนบ้านปีละประมาณ 0.3 ล้านตัว โค ดังกล่าวเกษตรกรนำมาขุนเป็นโคพันธุ์ประมาณ 0.2 ล้านตัว (ร้อยละ 70) และส่งเข้าโรงฆ่าทันทีที่นำเข้าประมาณ 0.1 ล้านตัว (ร้อยละ 30) ซึ่งโคทั้ง 2 กลุ่ม สามารถผลิตเนื้อได้ประมาณ 41.4 ล้าน กิโลกรัม และมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพดีจากต่างประเทศปีละประมาณ 1.3 ล้านกิโลกรัม เป็นเนื้อที่ใช้บริโภคในภัตตาคารและโรงแรมชั้นสูงปีละ 0.89 ล้านกิโลกรัม และทำเป็นเนื้อสุกบรรจุกระป๋องเพื่อส่งออก (re-export) ประมาณ 0.41 ล้านกิโลกรัม คงเหลือเป็นเนื้อเพื่อการบริโภคจริงภายในประเทศรวม 42.29 ล้านกิโลกรัม ซึ่งควรจะมีการเร่งรัดการผลิตทดแทน นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น หนัง กระดูก เขา เครื่องใน และอื่น ๆ มูลค่า 8,257 ล้านบาท
ปัญหาผลผลิตเนื้อไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ มีปัญหามาจากพันธุ์โคไม่เหมาะสมต่อการผลิตเนื้อ สภาพอากาศร้อนชื้น ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างพันธุ์โคเนื้อที่เหมาะสม ต่อการขุนภายใต้สภาพอากาศแบบร้อนชื้นของประเทศไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อที่เหมาะสม เช่น โคพันธุ์ตาก โคกบินทร์บุรี
โคกบินทร์บุรี เป็นโคเนื้อสายใหม่ที่สร้างโดยกรมปศุสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตเนื้อโคคุณภาพ ปลอดภัยให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ สามารถทดแทนการนำเข้า และเพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเริ่มดำเนินการในปี 2538 มีแผนการสร้างพันธุ์แบบผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง โคพันธุ์ซิมเมนทอลที่เป็นโคกึ่งเนื้อกึ่งนม (Dual Purpose) ที่มีการเจริญเติบโตและลักษณะซากดี ผลผลิตน้ำนมดี ผสมกับโคพันธุ์บราห์มันซึ่งเป็นโคเนื้อเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีเป้าหมายให้ได้โคเนื้อพันธุ์ใหม่ที่มีการเจริญเติบโตสูง ผลผลิตเนื้อสูง ในขณะที่แม่โคให้นมมาก สามารถเลี้ยงลูกโคได้ดี และมีความทนต่อโรคและแมลง
โคกบินทร์บุรีมีความดีเด่นเหนือพันธุ์พ่อและแม่เพราะได้รับความดีเด่นจากพันธุ์พ่อและแม่รวมกันและผลของเฮตเตอโรซิส โคกบินทร์ บุรีสามารถตอบสนองได้ดีต่อการใช้อาหารหยาบคุณภาพดี มีการเจริญเติบโตดี สามารถส่งตลาดเนื้อคุณภาพสูงได้ ทำให้โคกบินทร์บุรีเป็นโคพันธุ์หนึ่งที่เหมาะสมต่อการขุนสำหรับการผลิตเนื้อโคขุนสุขภาพสูง เพราะสามารถเพิ่มการแทรกของไขมันในระยะสุดท้ายของการขุน โดยมีน้ำหนักซากสูง และระยะการขุนที่ยาวขึ้น
กรมปศุสัตว์โดยกองบำรุงพันธุ์ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ปราจีนบุรี สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์สระแก้ว และสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์จันทบุรี ศึกษาวิจัยสร้างพันธุ์ โคกบินทร์บุรี โดยมีแผนการปรับปรุงพันธุ์ดังนี้คือ
- ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนอง กวาง จำนวน 175 แม่
- สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์ปราจีนบุรี จำนวน 175 แม่
- สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์สระแก้ว จำนวน 50 แม่
- สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์จันทบุรี จำนวน 100 แม่
สำหรับวัตถุประสงค์การสร้างพันธุ์โคกบินทร์บุรี คือ
1. เพื่อสร้างพันธุ์โคเนื้อที่ให้ผลผลิตเนื้อสูง
2. ตัวเมียให้นมมาก เลี้ยงลูกได้ดี ลูกโคมีการเจริญเติบโตสูง
3. เพื่อศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตในระยะต่าง ๆ ตลอดจนวิธีการขุนและคุณภาพซากของโค ชั่วอายุต่าง ๆ
4. เพื่อศึกษาพันธุกรรมของลักษณะที่มีความสำคัญต่อผลผลิตเนื้อในชั่วอายุต่าง ๆ
5.เพื่อเผยแพร่ความรู้และกระจาย พันธุ์สู่เกษตรกร
ปัจจุบันจากการศึกษาการขุนโคกบินทร์บุรีเพื่อส่งโรงฆ่าสัตว์ที่น้ำหนัก 450 กิโลกรัม และ 600 กิโลกรัม โคที่ส่งโรงฆ่าที่น้ำหนัก 450 และ 600 กิโลกรัม สามารถสร้างกำไรให้เกษตรกรตัวละ 13,038.90 และ 12,113.10 บาท ตามลำดับ โดยโคที่ส่งโรงฆ่าเมื่อน้ำหนัก 450 กิโลกรัมจะมีเนื้อที่นุ่มกว่า และจากการศึกษา การชิมเนื้อส่วนต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เนื้อกบินทร์บุรี ผู้บริโภค มีความพึงพอใจในรสชาติ สี กลิ่น การสัมผัสระดับปานกลางถึงมาก เมื่อดูจากการเจริญเติบโต คุณภาพซาก กำไรจากต้นทุนอาหารข้น
เห็นได้ว่าการขุนโคกบินทร์บุรี สามารถ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และสามารถเพิ่มผลผลิตเนื้อโคคุณภาพ ปลอดภัย สำหรับผู้บริโภคให้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ สามารถลดการนำเข้าได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=189641&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า