เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 52
แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้ผลักดัน ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานปลูกพืชพลังงานทดแทน "ปาล์มน้ำมัน" อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับโครงการยางพาราล้านไร่ก็ตาม
แต่จากสถานการณ์ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้น มีพื้นที่ปลูกกว่า 1 แสนไร่ แม้ว่าในบางพื้นที่จะมีสภาพแห้งแล้ง ไม่มีศักยภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกก็ตาม
แต่หลังจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่ก่อนหน้านี้มีราคาสูงถึงลิตรละ 45 บาท แต่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 18 บาท ขณะที่ราคารับซื้อปาล์มน้ำมันก็ตกต่ำ จากเดิมที่เฉลี่ย 6 บาท/กก.ปัจจุบันเหลือเพียง 2.60 บาท/กก. ซึ่งหากราคาน้ำมันยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มสูงว่าเกษตรกรจะทิ้งไร่ปาล์มน้ำมันอย่างแน่นอน
ดร.อุดม ชาคำ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปาล์มหนองคาย ระบุว่า ในช่วงกลางปี 2551 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรกรในภาคอีสานก็มีความตื่นกลัวว่าราคาน้ำมันจะทะยานสูงขึ้น ทำให้ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ภาคอีสาน รัฐบาลยังไม่ได้ส่งเสริมให้ปลูกเพื่อใช้ในการผลิตไบโอดีเซลแต่อย่างใด เป็นเพียงการทดลองปลูกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันหนองคาย ได้เพาะกล้าปาล์มสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี 1-6 แล้วประมาณ 9 แสนต้น ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะสม ให้ผลปาล์มโดยเฉลี่ย 1.5 ตัน/ไร่ เปอร์เซ็นต์น้ำมันเฉลี่ย 17-19% โดยศูนย์ได้กระจายกล้าปาล์มไปสู่มือเกษตรกรแล้วประมาณ 8 แสนต้น ในพื้นที่ปลูก 4 หมื่นไร่
"การปลูกปาล์มน้ำมันถือเป็นปัจจัยเสี่ยง กว่าจะรู้ได้ว่าต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกจะออกดอกเป็นตัวผู้หรือตัวเมียต้องใช้เวลา 20-21 เดือน หากต้นปาล์มขาดน้ำในช่วงนี้ ต้นปาล์มน้ำมันจะออกดอกเป็นตัวผู้หรือดอกตัวเมีย จึงค่อนข้างกังวลว่าอนาคตเกษตรกรจะไม่สนใจในการบำรุงรักษาสวนปาล์ม ที่ต้องการน้ำสูง เพราะราคาผลผลิตตกต่ำ จึงเป็นการเสี่ยงต่อการขาดทุนที่ค่อนข้างสูง" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปาล์มหนองคาย
ด้าน นายสมบัติ เหสกุล นักวิชาการอิสระ ซึ่งวิจัยศักยภาพการผลิตพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์ม 2.37 ล้านไร่ ผลผลิต 6.24 ล้านตัน และจากการวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ มีอีกประมาณ 3 แสนไร่ ภาคกลาง 4 หมื่นไร่ ภาคตะวันออก 7 หมื่นไร่ ภาคเหนือ 5 หมื่นไร่ และภาคใต้ 1.4 แสนไร่ ขณะที่ภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกที่มีศักยภาพเพียงกว่า 1 หมื่นไร่เท่านั้น ซึ่งอยู่ในเขต จ.หนองคาย นครพนม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และสุรินทร์
ทั้งนี้การปลูกปาล์มในเชิงพาณิชย์ของชาวอีสาน ขึ้นอยู่กับโอกาสและเงื่อนไข 4 ข้อ คือ 1.ปัจจัยน้ำ ต้นปาล์มน้ำมันต้องการน้ำเฉลี่ย 2,000 มม./ปี แล้งติดต่อกันไม่เกิน 3 เดือน แต่เขตภาคอีสานมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,300 มม./ปี และแล้งติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน 2.แหล่งทุน เกษตรกรต้องมีเงินลงทุนในช่วง 30 เดือนแรก เฉลี่ยไร่ 1.3 หมื่นบาท และค่าติดตั้งระบบน้ำอีก 7,000 บาท/ไร่ ส่วนในปีที่ 4-25 จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียน 4,000-5,000 บาท/ไร่ และทุกๆ 5 ปี จะต้องพัฒนาระบบน้ำอีก" 3.โรงงานสกัดปาล์มในพื้นที่ จะตั้งมีรัศมีไม่เกิน 50 กม.ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรภาคอีสานจะต้องขนผลปาล์มไปขายที่ จ.ชลบุรี มีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 1.50-2.0 บาท/กก. และ 4.ทักษะของเกษตรกร ซึ่งการปลูกปาล์มต้องการดูแลรักษา การจัดการแปลง ซึ่งแตกต่างไปจากการทำไร่ทำนา
ดังนั้นหากคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เกษตรกรที่ปลูกปาล์มตั้งแต่ 20 ไร่ขึ้นไป หากผลผลิตเฉลี่ย 3 ตัน/ไร่ ราคาปาล์มอยู่ที่ 3.90 บาท/กก. อัตราคุ้มทุนอยู่ที่ 5 ปี แต่ถ้าหากคำนวณราคาปาล์ม ณ ปัจจุบันที่ราคา 2.60 บาท/กก.เกษตรกรขาดแทนแน่นอน ฉะนั้นควรปลูกตามหัวไร่ปลายนา แล้วหีบใช้เองชุมชนจะคุ้มทุนกว่า
ขณะที่ นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ระบุว่า ตามที่กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมไบโอดีเซล โดยมีเป้าหมายจะส่งเสริมให้มีการใช้ไบโอดีเซลทดแทนน้ำมันดีเซลให้ได้ 5% ภายในปี 2554 ส่งเสริมให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นให้ได้ 2.5 ล้านไร่ในปี 2551-2555 และเพิ่มเป็น 10 ล้านไร่ภายใน 2572 มีเป้าหมายในภาคอีสานอยู่ที่ 5 แสนไร่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ขณะนี้เกษตรกรภาคอีสานได้ปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้วประมาณ 1 แสนไร่ กระจายตามจังหวัดต่างๆ อาทิ หนองคาย เลย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มุกดาหาร และศรีสะเกษ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีพื้นที่ปลูกราว 10-20 ไร่ โดยได้ผันพื้นที่นาข้าว นาลุ่มน้ำท่วม สวนผลไม้ มาเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มแทน
จากการศึกษาได้พบพื้นที่เหมาะสมของการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสานมีอย่างจำกัด แต่ปรากฏว่ามีการปลูกกระจายทั่วไป แม้แต่ในเขตพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น จ.มหาสารคาม ยโสธร ที่ต้องลงทุนสูง เฉพาะต้นกล้าราคาเฉลี่ย 60-180 บาท/ต้น เกษตรกรมีความเสี่ยง เพราะยังไม่มีโรงงานหีบน้ำมันปาล์มในภาคอีสาน จึงทำให้ไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน
หากประเมินในจากทุกมุมมองแล้วเกษตรกรในภาคอีสาน ควรจะตระหนักให้ดีก่อนตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากดูจากปัจจัยต่างๆ แล้วมีอัตราเสี่ยงพอสมค
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/02/x_agi_b001_334935.php?news_id=334935