เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 52
อดีตจับกังรับจ้างขายแรงงานในต่างแดน มีความรู้แค่ชั้นประถมปีที่ 4 แต่ผ่านการต่อสู้ชีวิตมาทุกรูปแบบก่อนจะมาพบอาชีพที่ตัวเองถนัด "ธนา พึ่งพบ" เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใน ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มโคนมต้นทุนต่ำชื่อ "ธนาฟาร์ม" ซึ่งเป็นฟาร์มต้นแบบในการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)
ธนาย้อนอดีตก่อนจะมายึดอาชีพเลี้ยงโคนมในทุกวันนี้ว่า เคยทำไร่กาแฟอยู่ที่ จ.ชุมพร จากนั้นก็เดินทางไปทำงานเป็นกรรมกรที่ไต้หวันอยู่หลายปี ก่อนกลับมายึดอาชีพเลี้ยงโคนมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
"หลังกลับจากไต้หวันเมื่อปี 2544 ก็มาคิดเลี้ยงวัว เริ่มจาก 2 ตัวก่อน จากนั้นก็สะสมมาเรื่อย ปัจจุบันมีวัวรวมทั้งสิ้น 28 ตัว แบ่งเป็นแม่วัว 18 ตัว ที่เหลือเป็นวัวรุ่น"
ธนายอมรับว่า จุดเด่นของฟาร์มอยู่ที่ต้นทุนต่ำ ทำให้มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟาร์มอื่นๆ เมื่อเทียบกับฟาร์มขนาดเดียวกัน ขณะเดียวกันโคแต่ละตัวก็จะให้ผลผลิตน้ำนมดิบต่อตัวสูง ปัจจุบันผลผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 15-20 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน หรือหากคิดปริมาณน้ำนมดิบของฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 310 กิโลกรัมต่อวัน ที่สำคัญยังไม่เคยได้นมเกรด 3 ในรอบปีที่ผ่านมาอีกด้วย
ส่วนหลักการจัดการฟาร์มเพื่อให้ต้นทุนต่ำนั้น ธนาเผยว่า จะยึดหลัก 7 ข้อ คือ 1.ให้อาหารข้น 3-4 กิโลกรัมต่อมื้อ 2.ให้กากมัน 10 กิโลกรัมต่อตัวต่อมื้อ 3.ต้องมีร่มเงาที่คอกพักโคและแปลงปล่อยโค 4.มีหญ้าสดให้กินไม่น้อยกว่า 8-10 เดือน 5.ต้องดูแลเอาใจใส่ทุกขั้นตอน 6.คัดโคที่ผลผลิตต่ำออกและ 7.เลือกใช้น้ำเชื้อที่มีคุณภาพ ทำให้ขณะนี้ธนาฟาร์มมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 10.47 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
"ผมจะให้วัวกินกากมันก่อนทุกครั้ง จึงจะกินหญ้าและอาหารข้น แต่ต้องไม่ให้มันกินกากมันมากเกินไป เพราะจะทำให้ท้องอืดแล้วมันจะกินอาหารไม่ได้ วิธีการนี้จะช่วยให้เราลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารไปได้มาก" ธนาเผยเทคนิคการลดต้นทุนฟาร์ม
เขาระบุอีกว่า ไม่เพียงกากมันที่หาซื้อได้ทั่วไปในพื้นที่และมีราคาถูกเพียงตันละ 300 บาท ส่วนก้อนฟางแห้งซึ่งเป็นอาหารหลักของวัวนั้นก็จะต้องไปตระเวนหาซื้อถึงที่นา โดยเขาจะขายในราคาก้อนละ 12 บาท แต่หากก้อนฟางสำเร็จรูปทั่วไปสนนราคาก้อนละ 30-35 บาท
"อาหารนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะถ้าต้นทุนค่าอาหารสูงแล้วย่อมทำให้ต้นทุนาการผลิตสูงตามไปด้วย ฉะนั้นอันดับแรกเราต้องหาวิธีคุมค่าอาหารให้ได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้ต้นทุนเรื่องนี้ถูกที่สุด แต่คุณภาพทางโภชนาการของวัวต้องไม่ลดด้วย" เจ้าของธนาฟาร์มกล่าว พร้อมแนะนำว่า นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้เจ้าของฟาร์มควรมีพื้นที่ปลูกหญ้าไว้สำหรับเป็นอาหารของวัวด้วย
"พื้นที่ฟาร์มมีอยู่ประมาณ 20 ไร่ ในจำนวนนี้ก็ได้เจียดพื้นที่ปลูกหญ้ารูซี่สำหรับเป็นอาหารวัวประมาณ 3 ไร่ ทุกวันนี้นอกจากจะดูแลวัวแล้ว ก็ต้องดูแลแปลงหญ้าด้วย ส่วนมูลวัวก็จะทำเป็นปุ๋ยคอกขายกระสอบละ 50 บาท ขายให้ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดในละแวกใกล้เคียงนี่แหละ เท่าที่สอบถามผู้ที่มาซื้อเขาบอกว่าใส่ขี้วัวข้าวโพดจะให้ผลผลิตได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี แถมราคาก็ถูกกว่ามาก" เจ้าของฟาร์มโคนมต้นทุนต่ำรายเดิมกล่าว
"ธนาฟาร์ม" นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในเรื่องการบริหารจัดการต้นทุน จึงเป็นต้นแบบของฟาร์มต้นทุนต่ำสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มีฟาร์มขนาดเล็ก สนใจเยี่ยมชมฟาร์มติดต่อได้ที่คุณธนา โทร.08-7964-7262 ได้ทุกเวลา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/05/x_agi_b001_335525.php?news_id=335525